คงกลายเป็นเรื่องกังวลใจขึ้นมาทันทีเมื่อพฤติกรรมของเราบ่งบอกว่าการเลี้ยงสุนัขตัวนี้ ฝูงนี้ไม่ดีพอ บางคนถึงขั้นเลี้ยงไม่ไหวอีกต่อไป การเกิดปัญหาเหล่านี้นำพามาซึ่งความสงสัยไปอีกว่าเลี้ยงสุนัขไม่ไหว ไม่รู้จะทำอย่างไรเพื่อให้สุนัขยังคงได้รับการเลี้ยงดู มีอาหาร มีน้ำกิน เอาเป็นว่าเรื่องนี้มีทางออกอยู่ เพียงคุณต้องรู้ก่อนว่าสัญญาณแบบไหนที่ส่งผ่านว่าการเลี้ยงสุนัขไม่ดีพอ และหากเลี้ยงไม่ไหวจริง ๆ ต้องทำตามวิธีนี้ ช่วยให้สุนัขยังคงมีชีวิตที่ปลอดภัย อิ่มท้องตลอดช่วงชีวิต สัญญาณว่าคุณดูแลสุนัขไม่ดีพอ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัจจัยหลายด้านส่งผลต่อการมีชีวิตของสุนัขอย่างดีที่สุด ซึ่งหากเราเลี้ยงหรือดูแลได้ไม่ดีพออาจทำให้สุนัขเปลี่ยนไปเป็นตัวละตัวเลยก็เป็นได้ จากที่ร่าเริง มีความสุขกลายเป็นฉุนเฉียว หรือเศร้าหงอยพาให้จิตใจสุนัขเองห่อเหี่ยว การรู้ถึงสัญญาณว่าคุณดูแลสุนัขไม่ดีพอจึงจะทำให้เข้าใจ และรู้ตัวได้ทันท่วงที 1. ละเลยการให้อาหาร – น้ำ การให้อาหารที่ว่านี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับโภชนาการที่ควรจะเป็นในแต่ละวัน ซึ่งจะทำให้สุนัขอิ่มท้อง มีแรงใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างเต็มที่ แต่หากละเลยให้บ้าง ไม่ให้บ้างชนิดที่ไม่สม่ำเสมอ ไม่ว่าจะ ข้าว อาหารเม็ด หรือแม้แต่น้ำ นอกจากจะเรื่องของพละกำลังก็ยังมีผลต่อการสร้างและรักษาเซลล์ร่างกาย ฟัน ผิวหนัง ขน ข้อต่อ โดยสุนัขจะรอคุณในเวลาเดิม สถานที่เดิม แต่เมื่อไม่มีแล้วก็หิวโหยเหมือนคนนั่นแหละ 2. ปล่อยให้แห้งเหี่ยวอยู่ในบ้าน แห้งเหี่ยวที่ว่านี้ก็คือการปล่อยให้เหงา ๆ นอนเฝ้าบ้านโดยไม่มีกิจกรรมทำเลยแม้แต่นิด ทั้งพาออกไปเดินเล่นนอกบ้าน หรือเดินในในบริเวณบ้าน กลับมาถึงบ้านก็ไม่สนที่จะจับ จะลูบใด ๆ ทำให้สุนัขรู้สึกโดดเดี่ยว เหงาหงอย ทำให้สภาวะจิตใจไม่ปกติ อาจจะกลายเป็นสุนัขมีปัญหา ไม่ชอบการเข้าสังคมไปเลย หรือขี้กลัว ขี้ตกใจ ซึ่งการเลี้ยงสุนัขควรให้ความสำคัญกับสภาวะจิตใจ หมั่นเล่นด้วยก็คงจะดี 3. ไม่ดูแลความสะอาด การดูแลความสะอาดนับตั้งแต่เรื่องการขับถ่าย เมื่อขับถ่ายแล้วก็ปล่อยไว้เป็นอาทิตย์ โดยเฉพาะกับสุนัขพันธุ์เล็ก ๆ คือไม่ได้เลยจริง ๆ ไปจนถึงการอาบน้ำ ชำระล้างสิ่งสกปรกก็ไม่สนใจ ซึ่งอาจทำให้สุขอนามัยของสุนัขมีปัญหา มีเห็บ หมัดกวนใจ เผลอ ๆ เป็นเรื้อน เป็นราขึ้นมาได้ หรืออาบน้ำเสร็จก็ไม่เช็ดขนให้ ไม่แปรงขนให้ปล่อยให้ขนพันรุงรัง หรือเล็บยาวไปไม่ตัด เป็นต้น แบบนี้เป็นสัญญาณว่าคุณดูแลสุนัขไม่ดีพอแล้วล่ะ 4. ละเลยเรื่องฉีดวัคซีน สุนัขจำเป็นต้องฉีดวัคซีนสุขภาพร่างกาย ซึ่งบางตัวก็อาจจะมีโรคประจำตัวจำต้องได้รับการให้ยา ฉีดยาทุก ๆ เดือนสม่ำเสมอ แต่คุณก็ละเลย ไม่พาไปตามนัดหรือไม่เคยพาไปเลยแม้แต่ครั้งเดียว ยิ่งวัคซีนพิษสุนัขบ้าควรค่าต่อการให้ความสำคัญขั้นสุด เพราะหากมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันโดนกัดหรือหลุดไปกัดคนอื่น เดือดร้อนกันจ้าระหวั่นแน่ 5. สุนัขก็ร้อน ก็หนาวเป็น บางคนเลี้ยงไปโดยไม่ได้สนใจในเรื่องของสภาพอากาศเลย จริงอยู่ที่ประเทศไทยไม่ได้เมืองหนาวแต่ก็มีบางช่วงที่ลมหนาวพัดผ่านก็ควรจะสวมเสื้อใส่สุนัขบ้าง เอาเสื้อยืดของเราที่ไม่ใช้ก็ได้ เพราะถึงบางตัวจะมีขนแต่ก็ยังรู้สึกหนาวเป็น หรือในกรณีอากาศร้อนสุนัขที่มีขนยาว หรือขนพันรุงรังก็ควรตัดแต่งขนทำให้น้องมีขนขึ้นใหม่ก็ยังดี ไม่ใช่ปล่อยไปไม่สนใจดูแล หากเราเลี้ยงไม่ไหว ต้องทำอย่างไร เมื่อรู้ตัวขึ้นมาแล้วว่าเลี้ยงไม่ไหวจริง ๆ ปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวล้ำนำสมัย มีอินเทอร์เน็ต และคุณเองก็คงมีสื่อโซเชียลช่องทางต่าง ๆ เช่น Facebook, Twitter, Instagram หรือ Website ดังนั้น หากไม่สามารถเลี้ยงสุนัข หรือเลี้ยงไม่ไหวแล้วแนะนำให้ตามหาบ้านใหม่ภายช่องทางออนไลน์เหล่านี้ไปเลย อาจตามหาบ้านใหม่ตามกลุ่มพันธุ์สุนัขอย่าง บางแก้ว หลังอาน พิตบูล โกลเด้น ฯลฯ หรือโพสต์ในกลุ่มคนรักสุนัข (อย่าลืมอ่านกติกากลุ่มและทำตามด้วยนะ) เริ่มจากโพสต์ชื่อ พันธุ์ อาหารที่ชอบ – ไม่ชอบ และเหตุผลจำเป็นที่ไม่สามารถเลี้ยงดูต่อได้ เพื่อให้ผู้ที่มีความสามารถในการเลี้ยงดูจริง ๆ เอาใจใส่ได้ตลอด มารับไปเลี้ยง นับว่าเป็นวิธีที่ง่ายและอาจได้ผู้ดูแลคนใหม่อย่างรวดเร็ว หรืออีกกรณีก็คือส่งต่อให้หน่วยงานรัฐอย่าง ศูนย์ฟื้นฟูสัตว์เลี้ยงกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งที่นี่จะรับเลี้ยงสุนัขไว้ด้วยเหตุผล 3 ข้อ เป็นสุนัขจรจัดเป็นสุนัขที่ถูกจับจากผู้ไม่หวังดีลักลอบสุนัขข้ามชาติเป็นสุนัขที่เจ้าของไม่สามารถดูแลและเลี้ยงดูอีกต่อไปได้ แน่นอนว่าที่นี่จะมีโซนสุนัขไว้มากมาย มีกรงพร้อมหลังคาไม่ต้องกลัวเรื่องแดดเรื่องฝน มีการดูแลให้อาหาร ทำความสะอาดร่างกาย รวมถึงของเสียสุนัข สามารถเดินเล่นได้ตามสะดวก หรือหากมีคนสนใจอยากนำไปเลี้ยงดูต่อก็สามารถติดต่อทำเรื่องได้ โดยศูนย์ฟื้นฟูจะมีด้วยกัน 4 แห่ง ได้แก่ 1. ศูนย์ฟื้นฟูสัตว์เลี้ยงบุรีรัมย์ ด่านกักสัตว์บุรีรัมย์ 1 หมู่ที่ 18 ตำบลหูทำนพ อำเภอประคำ จังหวัดบุรีรัมย์ 33112 ติดต่อผ่าน e – mail : qsbr_brr@dld.go.th 2. 4. ศูนย์ฟื้นฟูสัตว์เลี้ยงกาญจนบุรี ด่านกักสัตว์กาญจนบุรี (ทองผาภูมิ) หมู่ที่ 4 ตำบลท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี 71240 ติดต่อผ่านมือถือ โทร. 03 – 468 – 3446 หรือ e – mail : qsar_knr@dld.go.th 3. 1. ศูนย์ฟื้นฟูสัตว์เลี้ยงนครพนม ด่านกักสัตว์นครพนม บ้านหนองบัว หมู่ที่ 10 ตำบลหนองญาติ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม 48000 ติดต่อผ่านมือถือ โทร. 04 – 252 – 2591 หรือ e – mail : qsko_kop@dld.go.th 4. ศูนย์ฟื้นฟูสัตว์เลี้ยงสระแก้ว ด่านกักสัตว์สระแก้ว 15 ถ.สุวรรณศร ต.อรัญประเทศ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว 27120 ติดต่อผ่านมือถือ โทร. 03 – 723 – 1208 หรือ e – mail : qssr_srk@dld.go.th การดูแลสุนัขของเราสิ่งสำคัญที่สุดคือเวลาที่จะมีให้ รวมถึงความใส่ใจรอบด้าน ทั้ง อาหาร สุขภาพ สภาพแวดล้อม ฯลฯ ซึ่งเราควรต้องพิจารณาตนเองก่อนว่ามีความพร้อมเรื่องเหล่านี้แล้วหรือไม่ ไม่ใช่เห็นว่าลูกสุนัขน่ารัก็ซื้อก็นำมาเลี้ยง เพราะสุนัขก็เป็นอีกชีวิตเปรียบเสมือนเป็นลูกเป็นหลานที่ต้องดูแลอย่างดีที่สุด แต่หากมีปัญหาไม่สามารถเลี้ยงหรือดูแลได้อีกต่อไป อย่างหนึ่งที่ไม่แนะนำอย่างที่สุด คือ นำสุนัขไปปล่อยในที่ที่ไม่ควร เช่น วัด สถานที่ที่ไม่อาจมีความพร้อมในเรื่องอาหาร การดูแลอย่างเต็มที่ หรือข้างทางที่สุนัขก็อาจจะหาเลี้ยงตัวเองไม่ได้ ไม่มีอะไรให้กิน ดีไม่ดีวิ่งออกไปกลางถนนถูกรถชน สุดท้ายต้องจบชีวิตลงอย่างน่าสงสาร มาถึงตรงนี้ใครที่เลี้ยงสุนัขอยู่แล้วลองเช็คลิสต์สัญญาณว่าคุณดูแลสุนัขไม่ดีไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม แล้วเกิดเข้าข่ายแทบทุกข้อ แนะนำให้ทำตาม 2 วิธีข้างต้นอย่างเร็วที่สุดเลยจะดีกว่า ช่วยให้สุนัขได้พบเจ้าของใหม่ที่พร้อมดูแล เอาใจใส่ มีอาหาร มีน้ำ มีที่หลับนอน ได้สุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี และโปรดพึงระลึกไว้เสมอว่าหากไม่พร้อมอย่ามีสัตว์เลี้ยงไว้ในครอบครองเลย
เบื่อไหม? เวลาที่เลี้ยงสุนัขหลายตัววันดีคืนดีก็กัดกันเสียงดังลั่น เผลอ ๆ ต้องมารักษารอยเขี้ยวรอยกัดกันอีก แต่ปัญหานี้จะหมดไปหากคุณได้ลองหาสาเหตุของการขัดแย้งจนต้องกัดกันอยู่บ่อยครั้ง พร้อมศึกษา 7 วิธีแก้ปัญหาสุนัขกัดกันที่เราได้รวบรวมมาให้ รับรองว่าหากคุณได้ทำความเข้าใจอย่างหมดเปลือก สุนัขจะรักกันไร้ปัญหากัดกันอีกแน่นอน ทำไมเลี้ยงสุนัขหลายตัวไว้จึงชอบกัดกัน? ปกติแล้วหากคุณเลี้ยงสุนัขไว้เพียงตัวเดียวก็คงจะไม่สามารถสังเกตได้ถึงความเป็นจ่าฝูง แต่สุนัขจะรับรู้ได้โดยสัญชาตญาณลำดับที่เป็นอยู่นั่นคือตัวสุดท้าย (ฝูงก็คือครอบครัวมนุษย์รวมกับตัวมันเองด้วย) และเมื่อเราได้สุนัขมาเลี้ยงเพิ่มอีกตัว อีกสองตัว พวกสุนัขจะมีพฤติกรรมฝูงเข้ามาโดยปริยาย สาเหตุที่ทำให้สุนัขกัดกันนั้นเกิดขึ้นได้เมื่อมีสุนัขมากกว่า 2 ตัว และตำแหน่งของแต่ละตัวไม่ชัดเจน คือ เมื่อมีสุนัขตัวใหม่เข้ามาเรื่อย ๆ ตัวสุนัขเองต้องจัดลำดับใหม่เมื่อสุนัขหนีหายไปแล้วกลับเข้ามาอยู่ในบ้านใหม่เราได้ให้อาหารพร้อมกัน เท่าเทียมกัน ทั้งที่ควรจะให้จ่าฝูงได้กินก่อนเราไปทำให้อำนาจจ่าฝูงบิดเบือน หรือไปขัดจังหวะความเป็นจ่าฝูง เช่น ให้ความสนใจหรือเล่นกับตัวลูกฝูงมากกว่า ให้รางวัลกับตัวลูกฝูงมากกว่า เกิดความไม่ชัดเจนในหมู่สุนัขด้วยกันเมื่อลูกสุนัขมีอายุ 10 เดือนถึง 2 ปี หรือมีอายุโตเต็มที่แล้วก็จะเริ่มท้าทายจ่าฝูง ก่อกวนเราเข้าไปห้ามหรือไม่ให้จ่าฝูงได้แสดงอำนาจ เช่น ห้ามการคาบของเล่น ห้ามไม่ให้กินก่อน เข้าไปไล่ที่นอนจ่าฝูง แล้วให้อีกตัวมานอนแทน ห้ามการที่จ่าฝูงสั่งสอนลูกฝูง เป็นต้นเมื่อจ่าฝูงตัวปัจจุบันแก่ลง ไม่มีแรงที่จะเป็นจ่าฝูงอีกต่อไป สุนัขตัวอื่น ๆ ก็จะแข่งขันเพื่อแย่งตำแหน่งให้ตัวเองเมื่อสุนัขตัวแรกหรือตัวเดิมที่เลี้ยงอยู่ตายลง ตัวอื่น ๆ ก็ต้องจัดลำดับกันใหม่เองก็กัดกันได้ 7 วิธีแก้ปัญหาสุนัขกัดกัน เมื่อรู้สึกสาเหตุของปัญหา เราก็มาแก้ปัญหาอย่างเข้าใจกันดีกว่า โดยวันนี้เรารวบรวมมาให้ 7 วิธีด้วยกัน ได้แก่ 1. พยายามให้สุนัขตัวแรกที่เลี้ยงได้เลือกก่อน แน่นอนว่าสุนัขตัวแรกคือสุนัขที่รับรู้ว่าตัวเองเป็นจ่าฝูงเพราะได้เข้ามาอยู่ในบ้านก่อนใคร เมือ่เรารับตัวที่สอง ตัวที่สามมาเลี้ยงก็ควรให้ความสำคัญกับตัวแรกก่อนเสมอ เมื่อจะให้ของเล่น ที่นอน อาหารก็ควรให้สุนัขตัวแรกเลือก แต่ก็ต้องไม่มีการมาข่มเหง คำราม หรือขู่ตัวอื่น ๆ เมื่อเลือกไปแล้วจะมาเปลี่ยนใจอะไรทำนองนี้ จ่าฝูงมีสิทธิ์ปกป้องของของตัวเอง แต่ไม่ใช่การไปขู่ คำรามตัวอื่นไปเสียทุกอย่าง คำรามของเล่นทุกชิ้นใครแตะไม่ได้ คำรามอาหารเวลาตัวอื่นจะกิน เป็นต้น 2. ให้ความสนใจตัวจ่าฝูงก่อนแต่ก็อย่าลืมตัวลูกฝูง การให้ความสนใจในที่นี้คือสนใจทั้งจ่าฝูงและลูกฝูงแบบที่ไม่เสียระบบ ก็คือไม่ต้องไปปิดกั้นตัวจ่าฝูงเวาที่เราจะสนใจตัวลูกฝูงอย่างเต็มที่ แต่ให้ตัวจ่าฝูงได้แจกแจงงานเอง เช่น เวลาเราโยนลูกบอลเล่นตัวจ่าฝูงไปคาบมาระหว่างนั้นก็เล่นกับลูกฝูงได้ หรือตอนแปรงขนก็แปรงให้จ่าฝูงก่อนจากนั้นก็สั่งให้หมอบรอเราแปรงขนตัวลูกฝูงแล้วก็ปล่อยไปพร้อม ๆ กัน พร้อมชมตัวจ่าฝูงก่อนและชมตัวลูกฝูงเท่า ๆ กัน 3. พยายามให้อาหารตามลำดับ แน่นอนว่าพอเราได้ตัวใหม่มาอีกเวลาจะให้อาหาร เช่น ขนม ข้าว ก็ควรจะไล่เรียงตามลำดับเพื่อให้รู้ว่าตำแหน่งใครอยู่ลำดับเท่าไหร่ในฝูง แนะนำเวลาจะให้ขนม ข้าว ควรเรียกชื่อแล้วยื่นขนมให้ อย่าง จ่าฝูงชื่อไจแอนด์ก็เรียก “ไจแอนด์! ขนม” แล้วก็ยื่นขนมให้ จากนั้นก็เรียกไล่ตัวลูกฝูงเรื่อย ๆ “โรม่อน! ขนม” “แอคซ่า! ขนม” เป็นต้น แน่นอนว่าต้องเรียกเสียงดังและยื่นให้เห็นกันหมดเพื่อยืนยันตำแหน่งในฝูง 4. หากจะพาเดินเล่นให้จูงไปพร้อม ๆ กัน เพื่อไม่ให้ตัวใดตัวหนึ่งเกิดความสับสน ลังเล เวลาที่จะเดินเล่นกันในสวนสาธารณะ บนถนนในหมู่บ้านก็พาเดินกันไปทั้งหมดพร้อม ๆ กัน อาจจะให้ความยาวของสายเป็นตัวบ่งบอกก็ได้ว่าใครเป็นจ่าฝูง ลูกฝูง เช่น สายยาวหน่อยก็ใส่ให้จ่าฝูงไปเพื่อให้สามารถเดินนำหน้ามากกว่าตัวอื่น ๆ สายสั้นลงมาหน่อยก็ใส่ให้ลูกฝูงตัวที่ 2 สั้นลงมาอีกก็ใส่ให้ลูกฝูตัวที่สาม เป็นต้น แต่เราต้องเดินนำและหากสุนัขที่ไม่ถูกกันแรก ๆ ก็จูงคนละมือไปก่อนและคอยกระตุกสายจูงห้ามด้วยเวลาขู่ คำรามกัน 5. พยายามไม่อุ้ม อีกเรื่องที่ไม่ควรทำก็คือการอุ้มหรือเอาสุนัขมานั่งตักเราโดยไม่สนใจตัวอื่น ๆ เพราะจะเท่ากับว่าสุนัขตัวนั้นได้ถูกยกตำแหน่งให้สูงกว่าตัวอื่น และมีอาณาเขตกว้างรวมถึงเราไปอยู่ในอาณาเขตของมันด้วย ที่จะแนะนำคือการเริ่มอุ้มเริ่มชมกับตัวจ่าฝูงก่อน เมื่อเล่นเสร็จก็สั่งหมอบ แล้วหันไปอุ้มเล่นตัวลูกฝูงอื่น ๆ ต่อ หลังจากอุ้เล่นครบทุกตัวก็ปล่อยไปพร้อม ๆ กัน 6. ฝึกให้เกิดความคุ้นเคย บางทีสุนัขก็ไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้จริง ๆ เจอเป็นกัดก็ต้องฝึกให้เกิดความคุ้นเคย ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาบ้าง เช่น ตัวแรกอยู่ในห้อง อีกตัวอยู่ระเบียงโดยมีคนอยู่ทั้งสองที่ เมื่อสุนัขที่ระเบียงมีพฤติกรรมขู่ คำรามก็ดุ ตักเตือน อีกคนที่อยู่ในห้องก็คอยจึงสายจูงและดุ ตักเตือนเช่นกัน หรืออาจจะให้ทั้งตัวในห้องและระเบียงได้ดมกลิ่นกันผ่านมุ้งลวด 7. ถ้าอยู่ร่วมกันไม่ได้ก็แยกกันอยู่เลย เมื่อลองมาทุกวิถีทางแล้วก็ยังคงกัดกันอยู่ดี ตัวจ่าฝูงตัวลูกฝูงมั่วไปหมด ก็ให้จับเลี้ยงแยกไปเลย อาจจะใส่กรงใหญ่ไว้ตามลำพัง แล้วก็ให้อาหาร น้ำ พาออกไปเดินเล่นแต่ต้องทำกันคนละเวลา เพื่อป้องกันไม่ให้หลุดมากัดกันจนได้ ที่สำคัญคนต้องคอยใส่ใจเล่นหรือทำกิจกรรมร่วมกันทั้งสองตัว อย่าปล่อยให้อีกตัวเหงาหรือคิดว่าไม่สำคัญ เราในฐานะผู้เลี้ยงจริง ๆ แล้วก็สังเกตได้ทันทีว่าตัวไหนคือจ่าฝูง หรือลูกฝูง โดยจ่าฝูงจะทำอะไรก่อนลุกยืนก่อน ลูกฝูงก็จะลุกตาม เล่นชักกะเย่อก็จะชนะในขณะที่ลูกฝูงจะปล่อยให้ก่อน ไม่เลียปากใครแต่ลูกฝูงจะชอบเลีย เลือกที่นอนดีที่สุดก่อน ฯลฯ แน่นอนว่าเราต้องไม่ไปยัดเยียดความเท่าเทียมกันให้กับสุนัข เพราะทำแบบนี้จะเป็นการทำให้สุนัขสับสนและกัดกันเองเพื่อแย่งความเป็นจ่าฝูงได้ อย่าลืมสร้างความมั่นใจในตำแหน่งฝูงของสุนัข เวลาลูกฝูงแสดงความก้าวร้าวก็ตะโกนดุได้ ช่วยให้บรรยากาศในบ้านราบรื่น
สุนัขเป็นสัตว์เลี้ยงที่เรียกได้ว่าผู้คนนิยมนำมาเลี้ยงกันมากที่สุดเลยก็ว่าได้ และยังเป็นสัตว์ที่อยู่เคียงข้างมนุษย์มาอย่างยาวนานแล้ว ซึ่งทุกวันนี้ก็มีคนที่นิยมเลี้ยงสุนัขเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากความน่ารัก และนิสัยขี้เล่นของสุนัขแล้ว ยังมีการศึกษาวิจัยจากหลายๆ แห่งที่ระบุว่า การเลี้ยงสุนัขนั้นมีประโยชน์ต่อเรามากจริงๆ ซึ่งสัตว์เลี้ยงเหล่านี้ยังมีประโยชน์ที่เอื้อต่อจิตใจของมนุษย์ได้ในทุกช่วงวัย โดยมีทั้งข้อดีทางตรงและทางอ้อมในเวลาเดียวกัน ดังต่อไปนี้ 10 ข้อดีของการเลี้ยงสุนัข #1 เป็นสหายผู้ซื่อสัตย์ที่คอยเคียงข้างกันเสมอ การหาเพื่อนแท้ดีๆ สักคนมาคอยอยู่เคียงข้าง บางทีสำหรับหลายๆ คนก็ไม่ใช่เรื่องที่จะหากันได้ง่ายๆ แต่ชีวิตคุณจะเปลี่ยนไป ถ้าหากได้ลองเลี้ยงสุนัขไว้สักตัว ชีวิตคุณจะไม่เหงาอีกต่อไป คุณจะมีสุนัขแสนน่ารักที่คอยมอบความรักให้แก่คุณ ยิ่งถ้าคอยดูแลเขาดีเท่าไหร่ เขาจะรู้สึกว่าคุณคือทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของเขา และพร้อมที่จะภักดีกับคุณในฐานะเจ้านายที่แสนดี กลับกันเราอาจจะมองว่าเขาคือ ส่วนหนึ่งของครอบครัว หรือเป็นสหายแท้ที่จะคอยอยู่เคียงข้างกับเราตลอดไป #2 ช่วยเฝ้าบ้านและเตือนภัยคุกคามจากภายนอกได้ การเลี้ยงสุนัขเพื่อใช้เฝ้าบ้าน มีมาตั้งแต่สมัยก่อนที่มนุษย์จะเริ่มมีอารยธรรมอีก เดิมทีวัตถุประสงค์หลักของการเลี้ยงสุนัขก็คือ เลี้ยงเพื่อใช้เฝ้าบ้าน หรือคอยเตือนภัยอยู่แล้ว และเชื่อว่าในปัจจุบันก็ยังมีหลายคนที่อยากเลี้ยงสุนัขไว้ เพื่อใช้เฝ้าบ้าน ซึ่งในกรณีที่เราไม่อยู่บ้านต้องออกไปทำธุระข้างนอกบ้าน การมีสุนัขเลี้ยงไว้ที่บ้านก็จะสามารถคอยเป็นหูเป็นตาแทนเราได้ และถ้าหากมีคนจากภายนอกเข้ามาในบ้าน สุนัขก็จะเห่า เปรียบเสมือนการส่งเสียงเตือนให้ทราบถึงการมาของบุคคลแปลกหน้า หรือภัยคุกคามที่กำลังเข้ามา #3 ทำให้มีความรับผิดชอบมากขึ้น แน่นอนว่าการเลี้ยงสุนัขจะเป็นการฝึกให้ตัวเองต้องมีความรับผิดชอบที่มากขึ้น เพราะมันคือการที่เราจะต้องดูแลอีกหนึ่งชีวิต เราต้องคอยให้น้ำให้อาหาร พาไปอาบน้ำ พาไปเดินเล่นออกกำลังกาย หรือเวลาที่สุนัขของเราไม่สบายก็ต้องพาไปหาหมอ และถ้าหากเราเลือกที่จะเพิกเฉย สุนัขที่เราเลี้ยงก็จะป่วยได้เนื่องจากได้รับการดูแลที่ไม่ดีพอ ดังนั้น การทำสิ่งเหล่านี้อย่างเป็นประจำ ถือเป็นการฝึกความรับผิดชอบไปในตัว และเมื่อรู้สึกว่าตัวเองทำเรื่องนี้จนกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว นั่นหมายความว่าคุณมีความรับผิดชอบมากขึ้นแล้ว #4 สามารถยกระดับจิตใจให้ดียิ่งขึ้นได้ เวลาที่เลี้ยงสุนัขไว้ภายในบ้าน ช่วงแรกๆ คุณอาจจะต้องรับมือกับความซุกซนของเจ้าสุนัขซึ่งเป็นสมาชิกใหม่ในบ้าน ไม่ว่าจะทำเข้าของกระจัดกระจาย หรือทำพื้นบ้านเลอะเทอะก็ตาม ใจจริงเราก็คงไม่อยากจะดุด่า หรือลงไม้ลงมือกับเขา เพราะเขาอาจจะไม่เข้าใจ สิ่งที่เราสามารถทำได้ มีเพียงการให้อภัย ซึ่งจะทำให้คุณรู้จักที่จะเสียสละ มีเมตตามากยิ่งขึ้น ผลจากการศึกษาพบว่าครอบครัวที่เลี้ยงสุนัขมักจะเป็นครอบครัวที่อบอุ่น และสมาชิกในครอบครัวจะมีลักษณะนิสัยที่อ่อนโยน รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่นและชอบช่วยเหลือผู้อื่น ซึ่งเป็นเพราะสุนัขที่พวกเขาเลี้ยงคอยทำหน้าที่เป็นสะพานที่เชื่อมความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัวไว้ นั่นทำให้ทุกคนในครอบครัวรู้จักที่จะเอาใจใส่ มอบความรักให้แก่กัน และคอยแบ่งบันสิ่งดีๆ เหล่านี้ให้แก่ผู้อื่นเช่นกัน #5 ช่วยลดความตึงเครียดและยังช่วยรักษาสภาวะซึมเศร้าได้ หลายๆ คนมีแต่เรื่องให้ต้องเผชิญในแต่ละวัน ทั้งปัญหาและความท้าทายในการทำงาน หรือการต้องอยู่ห่างจากครอบครัว คนรัก จนทำให้จิตใจเหนื่อยล้า หรือเกิดสภาวะซึมเศร้า การที่มีสัตว์เลี้ยงแสนน่ารักอย่างสุนัขคอยมาเป็นเพื่อนเล่น ก็สามารถทำให้จิตใจเบิกบาน และหายจากอาการเหนื่อยล้าได้ ทั้งนี้คนที่เลี้ยงสุนัขจะมีความเสี่ยงต่อสภาวะซึมเศร้าน้อยกว่าคนที่ไม่ได้เลี้ยง และสำหรับคนที่มีสภาวะซึมเศร้า การหาสุนัขมาเลี้ยงไว้สักตัวก็จะช่วยให้อาการของคุณดีขึ้นได้ ด้วยความน่ารักและความขี้อ้อนของเขาจะทำให้คุณรู้สึกว่ามีเขาคอยอยู่ข้างๆ ในวันที่คุณรู้สึกไม่มีใคร นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยจากหลายสำนักระบุว่า แค่การมอง สัมผัสกับสัตว์เลี้ยง หรือแม้กระทั่งการจับมือกันระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง จะสามารถช่วยลดความตึงเครียดลงได้ โดยสมองจะทำการหลั่งสารออกซิโทซิน และเพิ่มระดับฮอร์โมนเซโรโทนิน ซึ่งจะทำให้เกิดความสุข ช่วยควบคุมอารมณ์และอุณหภูมิในร่างกาย และยังลดระดับของฮอร์โมนคอร์ติซอล ที่คอยกระตุ้นความตื่นกลัว ซึ่งทำให้ความเครียดลดลงไปได้ และยังทำให้เกิดการผ่อนคลาย ตลอดจนทำให้อารมณ์ดีขึ้นได้อีกด้วย ในปัจจุบันมีหลายๆ บริษัทที่กำลังให้ความสนใจและศึกษาเกี่ยวกับการนำสุนัขไปทำงานด้วยอย่างจริงจัง ซึ่งจากการศึกษานั้นแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่มีปฏิสัมพันธ์กับสัตว์เลี้ยงในขณะที่กำลังทำงานจะมีระดับของความเครียดลดลงตลอดทั้งวัน และในช่วงพักระหว่างการทำงาน ผู้คนก็ยังสามารถมาเล่นกับสัตว์เลี้ยง เพื่อลดความเหนื่อยล้าและผ่อนคลายความเครียดจากการทำงานได้ ซึ่งเปรียบเสมือนการชาร์จแบตเตอรี่เติมพลังงานและกำลังใจให้กับผู้คน เพื่อที่จะสามารถกลับไปทำงานต่อไปได้ #6 ช่วยให้สามารถเข้าสังคมได้ง่ายขึ้น ถ้าหากว่าในกรณีที่ตัวเองเป็นคนที่ค่อนข้างจะชอบเก็บตัว ขาดความมั่นใจในตัวเอง หรือคิดว่าตัวเองมีปัญหาในการเข้าสังคม การที่เรามีสัตว์เลี้ยงคอยอยู่ข้างกายก็เปรียบเสมือนมีที่พึ่งพิงทางสังคม ที่จะช่วยในการลดอารมณ์การแสดงออกในกริยาที่ดูก้าวร้าวและทำให้ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับตัวเอง รวมไปถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้อีกด้วย ผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยควีนส์ ในเรื่องพฤติกรรมของคนแปลกหน้ากว่า 1,800 คนที่มีปฏิกิริยาต่อกลุ่มตัวอย่างผู้หญิง 6 แบบ ดังต่อไปนี้ ผู้หญิงที่มาพร้อมกับลูกสุนัขพันธุ์ลาบราดอร์ผู้หญิงที่มาพร้อมกับสุนัขพันธุ์ลาบราดอร์ที่โตเต็มวัยผู้หญิงที่มาพร้อมกับสุนัขพันธุ์ร็อตไวเลอร์ผู้หญิงที่ถือตุ๊กตาหมีผู้หญิงที่ถือกระถางต้นไม้ผู้หญิงที่มาตัวเปล่า พบว่า ผู้หญิงที่มาตัวเปล่ามักจะถูกเมินมากกว่าผู้หญิงที่ถือตุ๊กตาหมีกับกระถางต้นไม้ ซึ่งในขณะเดียวกันพวกเธอจะได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นเมื่อพวกเธอมาพร้อมกับสุนัขพันธุ์ต่างๆ และโดยเฉพาะสุนัขที่ดูจะเป็นมิตรอย่างพันธุ์ลาบราดอร์ ซึ่งจะทำให้พวกเธอกลุ่มนี้ได้รับรอยยิ้ม รวมถึงการตอบสนองด้วยคำพูดที่มากกว่ากลุ่มอื่นๆ เมื่อคุณได้ลองพาสุนัขออกไปเดินเล่นนอกบ้านแล้ว มันก็จะเป็นเหมือนกับสะพานที่คอยเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับคนอื่นๆ เพราะด้วยสุนัขของคุณจะเป็นสิ่งที่ทำให้คนอื่นจะกล้าเข้ามาทักทายคุณก่อน ซึ่งใจจริงแล้วเขาอาจจะอยากเข้ามาทักทายคุณก็ได้ แต่แค่เขาอาจจะไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร ดังนั้น นี้จึงอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการมีเพื่อนใหม่ๆ #7 ช่วยลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากสาเหตุต่างๆ จากงานวิจัยของ ดร.แคโรไลน์ เครเมอร์ จากมหาวิทยาลัยโทรอนโต ที่ได้ตีพิมพ์ลงในนิตยสารของสมาคมโรคหัวใจอเมริกัน ได้ระบุไว้ว่าคนที่เลี้ยงสุนัขจะมีโอกาสเสียชีวิตจากทุกสาเหตุน้อยกว่าคนทั่วไป ซึ่งจากการวิเคราะห์จะพบว่าการที่มีสุนัขคอยช่วยปกป้องจากการเสียชีวิตในทุกสาเหตุแล้ว ยังเชื่อมโยงกับการที่มีอัตราการเสียชีวิตจากสาเหตุต่างๆ ที่ลดลงถึง 24% โดยนักวิจัยได้ให้เหตุผลไว้ว่า คนที่มีสัตว์เลี้ยงมักจะมีสุขภาพจิตที่ดีกว่า และยังมีวิถีชีวิตในแต่ละวันที่ตื่นตัวมากกว่าด้วย #8 ช่วยลดอาการเจ็บป่วยให้น้อยลง หลายคนอาจจะคิดว่าการกำจัดเชื้อโรคให้หมดจนไม่เหลือเลยนั้น คือการป้องกันตัวเองจากอาการเจ็บป่วย แต่แท้จริงแล้วการที่เรากำจัดเชื้อโรคออกไปหมดจนไม่เหลือเลยนั้น จะยิ่งทำให้เจ็บปวดได้ง่ายขึ้น เพราะว่าร่างกายของเราจะเจอกับเชื้อโรคได้น้อยลง ส่งผลทำให้จุลินทรีย์ที่อยู่ในร่างกายของเราทำงานได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งการเลี้ยงสุนัขจึงเท่ากับการที่เราได้เจอกับเชื้อโรคหลากหลายชนิด ส่งผลทำให้ร่างกายของเราจะมีภูมิต้านทานที่ดีกว่า ซึ่งจะมีอาการเจ็บปวดที่น้อยกว่า หรือไม่รุนแรงเท่ากับคนทั่วไปที่ไม่ได้เลี้ยงสุนัข แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็ควรที่จะหมั่นรักษาความสะอาดให้กับสุนัขของเราอยู่เสมอ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยจากประเทศฟินแลนด์ที่ระบุไว้ว่า ในจำนวนกลุ่มตัวอย่างเด็ก 397 คน ระหว่างช่วงปี ค.ศ. 2002 – 2005 ทั้งที่อาศัยอยู่ในครอบครัวที่เลี้ยงสุนัข และไม่ได้เลี้ยงสุนัข 31% ของทั้งหมด พบว่าเด็กที่เติบโตมาในครอบครัวที่เลี้ยงสุนัขจะมีแนวโน้มที่จะมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงกว่าเด็กจากครอบครัวที่ไม่ได้เลี้ยงสุนัข และงานวิจัยในปี 2011 ยังระบุอีกว่า เด็กอายุต่ำกว่า 4 ขวบ ในครอบครัวที่เลี้ยงสุนัขนั้น มีแนวโน้มที่จะป่วยเป็นโรคผิวหนังน้อยมาก รวมไปถึงยังช่วยให้เด็กๆ มีภูมิคุ้มกันที่เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย #9 ช่วยชี้ให้เห็นถึงการเกิดโรคได้ ในปัจจุบันมีงานวิจัยจากหลากหลายแหล่งที่ช่วยสนับสนุนว่า การเลี้ยงสุนัขนั้นสามารถช่วยระบุ หรือตรวจหาโรคในร่างกายของมนุษย์ซึ่งเป็นเจ้าของของมันได้ เช่น โรคเบาหวาน สุนัขก็สามารถรับรู้ถึงปริมาณของระดับน้ำตาลในเลือดที่เปลี่ยนแปลงไปได้ ด้วยการได้รับกลิ่นที่เปลี่ยนไปของเจ้าของ ทำให้สุนัขจะสามารถรับรู้ได้ในทันที จากนั้นก็จะส่งเสียงเห่าเตือน นอกจากนี้สุนัขบางตัวยังสามารถรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของคนที่กำลังจะเกิดอาการลมชักได้ก่อนที่จะแสดงอาการออกมาประมาณ 15 – 45 นาที ด้วยเหตุนี้จึงทำให้กลุ่มผู้หลายๆ คนปลอดภัยจากอุบัติเหตุดังกล่าวที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาในตอนที่เกิดอาการลมชักได้ ยิ่งไปกว่านั้นสุนัขยังมีความสามารถในการตรวจหามะเร็งบางชนิดในมนุษย์ได้อีกด้วย ซึ่งมีหญิงสาวคนหนึ่งได้เล่าว่า สุนัขของเธอที่เลี้ยงไว้ ชอบมาดมกลิ่นบริเวณขาของเธออยู่บ่อยครั้ง พอเธอได้ไปตรวจ ก็พบว่าตัวเองมีเนื้อร้ายอยู่ในตัว ซึ่งมันสามารถรับรู้ได้จากกลิ่นที่เกิดจากสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่ายที่เซลล์มะเร็งสร้างขึ้นในอวัยวะนั้นๆ และในปัจจุบันก็มีการฝึกให้สุนัขทำหน้าที่ในการตรวจหามะเร็งแล้วด้วย #10 สามารถบำบัดพฤติกรรมและช่วยฟื้นฟูจิตใจของผู้ป่วยได้ การนำสัตว์เลี้ยงมาช่วยในการบำบัดจิตใจของผู้ป่วยที่ป่วยหนักนั้นได้รับการยอมรับมานานแล้วว่าสามารถช่วยเยียวยาจิตใจ และผ่อนคลายความเครียดของผู้ป่วยได้จริง ซึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกานั้นก็มีการให้บริการบำบัดด้วยสัตว์เลี้ยงมากกว่า 50,000 ตัวเลยทีเดียว ซึ่งบริการบำบัดด้วยสัตว์เลี้ยงแบบนี้กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในหลายประเทศ มีตั้งแต่นอร์เวย์ไปจนถึงบราซิลกันเลยทีเดียว ในการบำบัดด้วยสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัข ซึ่งจะคอยทำหน้าที่เป็นผู้เยียวยาผู้ป่วย โดยจะต้องได้รับการฝึกฝนและมีใบรับรองกำกับอย่างเป็นทางการจากองค์กรที่เชื่อถือได้ ก่อนที่จะทำการส่งตัวสุนัขเพื่อไปทำการบำบัดตามโรงพยาบาล หรือตามศูนย์บำบัดต่างๆ ขั้นตอนการใช้สุนัขในการบำบัดผู้ป่วย ส่วนใหญ่จะเป็นการกระตุ้นพฤติกรรมและจิตใจเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถรู้สึกผ่อนคลายความตึงเครียด โดยการกระตุ้นให้ผู้ป่วยอยากที่จะเล่นกับสุนัข ซึ่งในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นเด็กและกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นคนชราจะเห็นผลลัพธ์ที่แตกต่างอย่างชัดเจนกว่ากลุ่มผู้ป่วยที่เป็นวัยผู้ใหญ่ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จากการบำบัดพบว่า ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้น มีความร่าเริงและกำลังใจที่มากขึ้น จากข้อดีทั้งหมดที่ได้นำเสนอไปข้างต้นคงจะทำให้ใครหลายคนเริ่มที่อยากจะลองเลี้ยงสุนัขขึ้นมาบ้างแล้ว แต่ก่อนหน้านั้น อยากจะให้จำไว้ว่าการเลี้ยงสุนัขนั้นจำเป็นที่จะต้องเลี้ยงด้วยความรักมากกว่าการเลี้ยงไว้เพื่อใช้งาน และเมื่อเราเลือกที่จะรับเขามาเลี้ยงแล้ว เราก็ควรจะหมั่นดูแลเอาใจใส่ให้กับสุนัขของตัวเองอย่างเต็มที่ให้เหมือนเป็นสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว และเมื่อเราดูแลเอาใจใส่เขาอย่างเต็มที่แล้ว เราก็จะได้รับความรักสุดวิเศษที่เขามอบกลับมาให้แก่เราด้วยเช่นกัน ดังนั้นก่อนจะเลี้ยงก็ควรที่จะศึกษาข้อมูลที่ควรรู้ เพื่อให้พร้อมสำหรับการต้อนรับสมาชิกใหม่น้องใหม่ที่น่ารักของเรานั่นเอง