7 วิธีแก้ปัญหา สุนัขกัดกัน


7 วิธีแก้ปัญหา สุนัขกัดกัน

เบื่อไหม? เวลาที่เลี้ยงสุนัขหลายตัววันดีคืนดีก็กัดกันเสียงดังลั่น เผลอ ๆ ต้องมารักษารอยเขี้ยวรอยกัดกันอีก แต่ปัญหานี้จะหมดไปหากคุณได้ลองหาสาเหตุของการขัดแย้งจนต้องกัดกันอยู่บ่อยครั้ง พร้อมศึกษา 7 วิธีแก้ปัญหาสุนัขกัดกันที่เราได้รวบรวมมาให้ รับรองว่าหากคุณได้ทำความเข้าใจอย่างหมดเปลือก สุนัขจะรักกันไร้ปัญหากัดกันอีกแน่นอน

ทำไมเลี้ยงสุนัขหลายตัวไว้จึงชอบกัดกัน?

ปกติแล้วหากคุณเลี้ยงสุนัขไว้เพียงตัวเดียวก็คงจะไม่สามารถสังเกตได้ถึงความเป็นจ่าฝูง แต่สุนัขจะรับรู้ได้โดยสัญชาตญาณลำดับที่เป็นอยู่นั่นคือตัวสุดท้าย (ฝูงก็คือครอบครัวมนุษย์รวมกับตัวมันเองด้วย) และเมื่อเราได้สุนัขมาเลี้ยงเพิ่มอีกตัว อีกสองตัว พวกสุนัขจะมีพฤติกรรมฝูงเข้ามาโดยปริยาย สาเหตุที่ทำให้สุนัขกัดกันนั้นเกิดขึ้นได้เมื่อมีสุนัขมากกว่า 2 ตัว และตำแหน่งของแต่ละตัวไม่ชัดเจน คือ

  • เมื่อมีสุนัขตัวใหม่เข้ามาเรื่อย ๆ ตัวสุนัขเองต้องจัดลำดับใหม่
  • เมื่อสุนัขหนีหายไปแล้วกลับเข้ามาอยู่ในบ้านใหม่
  • เราได้ให้อาหารพร้อมกัน เท่าเทียมกัน ทั้งที่ควรจะให้จ่าฝูงได้กินก่อน
  • เราไปทำให้อำนาจจ่าฝูงบิดเบือน หรือไปขัดจังหวะความเป็นจ่าฝูง เช่น ให้ความสนใจหรือเล่นกับตัวลูกฝูงมากกว่า ให้รางวัลกับตัวลูกฝูงมากกว่า เกิดความไม่ชัดเจนในหมู่สุนัขด้วยกัน
  • เมื่อลูกสุนัขมีอายุ 10 เดือนถึง 2 ปี หรือมีอายุโตเต็มที่แล้วก็จะเริ่มท้าทายจ่าฝูง ก่อกวน
  • เราเข้าไปห้ามหรือไม่ให้จ่าฝูงได้แสดงอำนาจ เช่น ห้ามการคาบของเล่น ห้ามไม่ให้กินก่อน เข้าไปไล่ที่นอนจ่าฝูง แล้วให้อีกตัวมานอนแทน ห้ามการที่จ่าฝูงสั่งสอนลูกฝูง เป็นต้น
  • เมื่อจ่าฝูงตัวปัจจุบันแก่ลง ไม่มีแรงที่จะเป็นจ่าฝูงอีกต่อไป สุนัขตัวอื่น ๆ ก็จะแข่งขันเพื่อแย่งตำแหน่งให้ตัวเอง
  • เมื่อสุนัขตัวแรกหรือตัวเดิมที่เลี้ยงอยู่ตายลง ตัวอื่น ๆ ก็ต้องจัดลำดับกันใหม่เองก็กัดกันได้

7 วิธีแก้ปัญหาสุนัขกัดกัน

เมื่อรู้สึกสาเหตุของปัญหา เราก็มาแก้ปัญหาอย่างเข้าใจกันดีกว่า โดยวันนี้เรารวบรวมมาให้ 7 วิธีด้วยกัน ได้แก่

1. พยายามให้สุนัขตัวแรกที่เลี้ยงได้เลือกก่อน

แน่นอนว่าสุนัขตัวแรกคือสุนัขที่รับรู้ว่าตัวเองเป็นจ่าฝูงเพราะได้เข้ามาอยู่ในบ้านก่อนใคร เมือ่เรารับตัวที่สอง ตัวที่สามมาเลี้ยงก็ควรให้ความสำคัญกับตัวแรกก่อนเสมอ เมื่อจะให้ของเล่น ที่นอน อาหารก็ควรให้สุนัขตัวแรกเลือก แต่ก็ต้องไม่มีการมาข่มเหง คำราม หรือขู่ตัวอื่น ๆ เมื่อเลือกไปแล้วจะมาเปลี่ยนใจอะไรทำนองนี้ จ่าฝูงมีสิทธิ์ปกป้องของของตัวเอง แต่ไม่ใช่การไปขู่ คำรามตัวอื่นไปเสียทุกอย่าง คำรามของเล่นทุกชิ้นใครแตะไม่ได้ คำรามอาหารเวลาตัวอื่นจะกิน เป็นต้น

2. ให้ความสนใจตัวจ่าฝูงก่อนแต่ก็อย่าลืมตัวลูกฝูง

การให้ความสนใจในที่นี้คือสนใจทั้งจ่าฝูงและลูกฝูงแบบที่ไม่เสียระบบ ก็คือไม่ต้องไปปิดกั้นตัวจ่าฝูงเวาที่เราจะสนใจตัวลูกฝูงอย่างเต็มที่ แต่ให้ตัวจ่าฝูงได้แจกแจงงานเอง เช่น เวลาเราโยนลูกบอลเล่นตัวจ่าฝูงไปคาบมาระหว่างนั้นก็เล่นกับลูกฝูงได้ หรือตอนแปรงขนก็แปรงให้จ่าฝูงก่อนจากนั้นก็สั่งให้หมอบรอเราแปรงขนตัวลูกฝูงแล้วก็ปล่อยไปพร้อม ๆ กัน พร้อมชมตัวจ่าฝูงก่อนและชมตัวลูกฝูงเท่า ๆ กัน

3. พยายามให้อาหารตามลำดับ

แน่นอนว่าพอเราได้ตัวใหม่มาอีกเวลาจะให้อาหาร เช่น ขนม ข้าว ก็ควรจะไล่เรียงตามลำดับเพื่อให้รู้ว่าตำแหน่งใครอยู่ลำดับเท่าไหร่ในฝูง แนะนำเวลาจะให้ขนม ข้าว ควรเรียกชื่อแล้วยื่นขนมให้ อย่าง จ่าฝูงชื่อไจแอนด์ก็เรียก “ไจแอนด์! ขนม” แล้วก็ยื่นขนมให้ จากนั้นก็เรียกไล่ตัวลูกฝูงเรื่อย ๆ “โรม่อน! ขนม” “แอคซ่า! ขนม” เป็นต้น แน่นอนว่าต้องเรียกเสียงดังและยื่นให้เห็นกันหมดเพื่อยืนยันตำแหน่งในฝูง

4. หากจะพาเดินเล่นให้จูงไปพร้อม ๆ กัน

เพื่อไม่ให้ตัวใดตัวหนึ่งเกิดความสับสน ลังเล เวลาที่จะเดินเล่นกันในสวนสาธารณะ บนถนนในหมู่บ้านก็พาเดินกันไปทั้งหมดพร้อม ๆ กัน อาจจะให้ความยาวของสายเป็นตัวบ่งบอกก็ได้ว่าใครเป็นจ่าฝูง ลูกฝูง เช่น สายยาวหน่อยก็ใส่ให้จ่าฝูงไปเพื่อให้สามารถเดินนำหน้ามากกว่าตัวอื่น ๆ สายสั้นลงมาหน่อยก็ใส่ให้ลูกฝูงตัวที่ 2 สั้นลงมาอีกก็ใส่ให้ลูกฝูตัวที่สาม เป็นต้น แต่เราต้องเดินนำและหากสุนัขที่ไม่ถูกกันแรก ๆ ก็จูงคนละมือไปก่อนและคอยกระตุกสายจูงห้ามด้วยเวลาขู่ คำรามกัน

5. พยายามไม่อุ้ม

อีกเรื่องที่ไม่ควรทำก็คือการอุ้มหรือเอาสุนัขมานั่งตักเราโดยไม่สนใจตัวอื่น ๆ เพราะจะเท่ากับว่าสุนัขตัวนั้นได้ถูกยกตำแหน่งให้สูงกว่าตัวอื่น และมีอาณาเขตกว้างรวมถึงเราไปอยู่ในอาณาเขตของมันด้วย ที่จะแนะนำคือการเริ่มอุ้มเริ่มชมกับตัวจ่าฝูงก่อน เมื่อเล่นเสร็จก็สั่งหมอบ แล้วหันไปอุ้มเล่นตัวลูกฝูงอื่น ๆ ต่อ หลังจากอุ้เล่นครบทุกตัวก็ปล่อยไปพร้อม ๆ กัน

6. ฝึกให้เกิดความคุ้นเคย

บางทีสุนัขก็ไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้จริง ๆ เจอเป็นกัดก็ต้องฝึกให้เกิดความคุ้นเคย ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาบ้าง เช่น ตัวแรกอยู่ในห้อง อีกตัวอยู่ระเบียงโดยมีคนอยู่ทั้งสองที่ เมื่อสุนัขที่ระเบียงมีพฤติกรรมขู่ คำรามก็ดุ ตักเตือน อีกคนที่อยู่ในห้องก็คอยจึงสายจูงและดุ ตักเตือนเช่นกัน หรืออาจจะให้ทั้งตัวในห้องและระเบียงได้ดมกลิ่นกันผ่านมุ้งลวด

7. ถ้าอยู่ร่วมกันไม่ได้ก็แยกกันอยู่เลย

เมื่อลองมาทุกวิถีทางแล้วก็ยังคงกัดกันอยู่ดี ตัวจ่าฝูงตัวลูกฝูงมั่วไปหมด ก็ให้จับเลี้ยงแยกไปเลย อาจจะใส่กรงใหญ่ไว้ตามลำพัง แล้วก็ให้อาหาร น้ำ พาออกไปเดินเล่นแต่ต้องทำกันคนละเวลา เพื่อป้องกันไม่ให้หลุดมากัดกันจนได้ ที่สำคัญคนต้องคอยใส่ใจเล่นหรือทำกิจกรรมร่วมกันทั้งสองตัว อย่าปล่อยให้อีกตัวเหงาหรือคิดว่าไม่สำคัญ

เราในฐานะผู้เลี้ยงจริง ๆ แล้วก็สังเกตได้ทันทีว่าตัวไหนคือจ่าฝูง หรือลูกฝูง โดยจ่าฝูงจะทำอะไรก่อนลุกยืนก่อน ลูกฝูงก็จะลุกตาม เล่นชักกะเย่อก็จะชนะในขณะที่ลูกฝูงจะปล่อยให้ก่อน ไม่เลียปากใครแต่ลูกฝูงจะชอบเลีย เลือกที่นอนดีที่สุดก่อน ฯลฯ แน่นอนว่าเราต้องไม่ไปยัดเยียดความเท่าเทียมกันให้กับสุนัข เพราะทำแบบนี้จะเป็นการทำให้สุนัขสับสนและกัดกันเองเพื่อแย่งความเป็นจ่าฝูงได้ อย่าลืมสร้างความมั่นใจในตำแหน่งฝูงของสุนัข เวลาลูกฝูงแสดงความก้าวร้าวก็ตะโกนดุได้ ช่วยให้บรรยากาศในบ้านราบรื่น

บทความล่าสุด