สุนัขร้องเอาแต่ใจ ทำอย่างไรให้เขาเลิกดื้อดึง


สุนัขร้องเอาแต่ใจ ทำอย่างไรให้เขาเลิกดื้อดึง

แม้ว่าน้องหมาของคุณจะน่ารักน่าเอ็นดูแค่ไหน แต่หากเขามีนิสัยชอบร้องเอาแต่ใจ หรือมีนิสัยดื้อดึง ไม่เพียงแต่จะทำให้เจ้าของลำบาก แต่ยังทำให้สมาชิกในครอบครัวและคนรอบข้างเดือดร้อนรำคาญไปด้วย

นอกจากนี้อาการเอาแต่ใจ และการดื้อดึงของเขา ก็อาจพัฒนาจนกลายเป็นพฤติกรรมก้าวร้าวได้ ดังนั้นรีบหยุดน้องหมาในขณะที่คุณยังรับมือไหว อย่าปล่อยให้มากเกินไปจนสายเกินแก้เลยครับ

ลักษณะน้องหมาชอบร้องเอาแต่ใจ มีนิสัยดื้อดึงเป็นอย่างไร

ก่อนที่คุณจะหาวิธีจัดการกับน้องหมาที่มีนิสัยเอาแต่ใจ อันดับแรกคุณต้องรู้ว่าลักษณะที่แสดงว่าเขาเป็นน้องหมาเอาแต่ใจตัว และมีนิสัยดื้อนั้นเป็นอย่างไร

-น้องหมาที่มีนิสัยชอบร้องเอาแต่ใจ จะร้องไม่เป็นเวลา และมักจะร้องเมื่อไม่ได้อย่างที่ตนต้องการ เช่น ร้องเรียกเสียงดังเมื่อเจ้าของไม่สนใจ ร้องเมื่อถูกขัดใจ ร้องเพราะได้กินข้าวช้า ร้องเมื่อโดนดุ นอกจากนี้เขายังเห่าเรื่อยเปื่อยโดยไม่มีเหตุอันควร ซึ่งเขามักจะทำเพื่อเรียกร้องความสนใจจากเจ้าของ และการเห่าของเขานอกจากจะทำให้คุณรำคาญแล้ว ก็อาจทำให้คุณมีปัญหากับข้างบ้านด้วย

-น้องหมาจะมีลักษณะคล้าย “เห่าเถียง” เมื่อคุณแสดงท่าทางดุหรือบ่นเขา โดยเขาจะส่งเสียงเห่าถี่ ๆ ยาวนานเหมือนเถียงสู้คุณ

-หวงพื้นที่ หวงของกิน หวงของเล่น และลามไปถึงหวงเจ้าของ เพราะคิดว่าเจ้าของคือสมบัติของตน และเมื่อได้ของแล้วมักไม่ยอมคืนให้ เช่น เมื่อน้องหมาคาบลูกบอลกลับมาแล้วจะไม่ยอมคืนให้เจ้าของ แถมยังมีท่าทีหวงของมาก ซึ่งน้องหมาบางตัวยังถึงขั้นขู่หรืองับมือเจ้าของด้วย

-น้องหมาจะชอบแทรกกลางระหว่างคุณกับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เขา ทั้งคนในครอบครัว สัตว์เลี้ยงในบ้าน เพื่อนหรือแขกที่มาเยี่ยมเยือน

-ไม่รอคำสั่งใด ๆ ทั้งสิ้น โดยเฉพาะเมื่อคุณเปิดประตูบ้าน เขาจะรีบวิ่งออกไปทันที

เจ้าของต้องเลิก “เอาใจ” ลดพฤติกรรม “เอาแต่ใจ” ของน้องหมา

สาเหตุที่ทำให้น้องหมาดื้อด้าน และชอบร้องเอาแต่ใจ ส่วนหนึ่งที่ถือว่า “ไม่สำคัญ” เท่าไร

ก็คือมาจากพันธุกรรมครับ คือถ้าพ่อแม่น้องหมามีพฤติกรรมเช่นนี้อยู่แล้ว ตัวลูกก็มีโอกาสติดนิสัยเสีย ๆ ได้เช่นกัน

นอกจากนี้ยังมีวิจัยพบว่าพันธุ์ของน้องหมาก็มีส่วนที่ทำให้น้องหมาตัวนั้นดื้อ ชอบร้องเอาแต่ใจหรือขี้บ่นเก่งด้วย เช่นน้องหมาพันธุ์เหล่านี้

-ไซบีเรียนฮัสกี้ (Siberian Husky) ขี้เถียง ขี้บ่น จอมดื้อ

-บีเกิล (Beagle) ชอบเอาแต่ใจตัว และจะชอบเห่าหอนเมื่อรู้สึกเบื่อ

-แจ็กรัสเซลล์ (Jack Russell Terrier) เอาแต่ใจ ค่อนข้างแข็งขืน

-ชิบะ อินุ (Shiba Inu) เอาแต่ใจตัวที่หนึ่ง ไม่ค่อยฟังเจ้าของ

-ปั๊ก (Pug) ชอบเรียกร้องความสนใจจากเจ้าของ

แต่อันที่จริงแล้ว “สิ่งสำคัญ” ที่สุดก็คือมาจากการเลี้ยงดูของเจ้าของนั่นเองครับ

เจ้าของต้องเลิก “เอาใจ” ลดพฤติกรรม “เอาแต่ใจ” ของน้องหมา

ซึ่งการเลี้ยงลูกหมาก็ไม่ต่างจากการเลี้ยงลูกคน คือถ้าคุณเลี้ยงเขาอย่างไร เขาก็จะเป็นอย่างนั้น ดังนั้นถ้าคุณเอาอกเอาใจเขามากเกินไป เขาก็ย่อมจะกลายเป็นน้องหมาจอมดื้อ และชอบร้องเอาแต่ใจ

หากคุณเคยทำแบบนี้บ่อย ๆ บอกได้เลยครับว่านี่คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้น้องหมานิสัยไม่ดี เช่น

-เห่าเรียกเมื่อไร เจ้าของวิ่งไปทันที  แบบนี้ไม่ดีแน่ เพราะเจ้าของควรทำตัวเป็น “จ่าฝูง” ไม่ใช่ “ทาสในเรือนเบี้ย”

-กินพร้อมน้องหมา หรือให้น้องหมากินของที่คุณกำลังกินอยู่ ซึ่งแบบนี้จะแสดงว่าคุณกับเขามีสถานะเท่ากัน

-น้องหมาขโมยของกินแต่คุณกลับมองว่าน่ารัก ฉลาดแสนรู้ และเจ้าของบางคนถึงกับวางขนมหรืออาหารล่อเพื่อให้น้องหมาแอบมาคาบไปได้ง่าย ๆ ด้วย ซึ่งการขโมยนอกจากจะเป็นพฤติกรรมที่ไม่น่ารักแล้ว เมื่อน้องหมาติดนิสัยนี้จนเคยตัว เขาก็จะพัฒนาเลเวลจนสามารถขโมยของข้างบ้านหรือคนรอบข้างได้เลยครับ

-น้องหมาไม่ยอมเดินตาม หรือจับแล้วขืนตัว แต่คุณก็ยอมตามใจ โดยเฉพาะตอนที่พาเขาออกไปเที่ยวหรือไปเดินเล่น น้องหมามักจะติดลมไม่ยอมกลับง่าย ๆ จึงแสดงพฤติกรรมเอาแต่ใจ และถ้าคุณ “ยอมให้เขา” คราวต่อไปก็อย่าหวังว่าเขาจะ “ยอมให้คุณ”

-เมื่อน้องหมาขู่หรือคำรามในลำคอเพราะไม่พอใจคุณ แต่คุณกลับหัวเราะชอบใจเพราะคิดว่าตลกดี การทำแบบนี้จะกระตุ้นให้น้องหมายิ่งส่งเสียงดังมากขึ้น เนื่องจากน้องหมามีความไวต่อเสียงมากเป็นพิเศษ 

-เมื่อน้องหมาเห่าหรือส่งเสียงดังขณะที่คุณกำลังคุยกับคนอื่น คุณก็หันไปโอ๋เขาทันที การทำแบบนี้จะทำให้เขารู้สึกว่าเหนือคุณ ซึ่งการเรียกร้องตอนที่คุณอยู่กับคนอื่น ถือเป็นเทคนิคที่น้องหมานิสัยเอาแต่ใจนิยมทำกันครับ   

-น้องหมาสะบัด แข็งขืน หรือเดินหนีเมื่อคุณต้องการกอด และคุณก็ปล่อยไป ซึ่งตามธรรมชาติน้องหมาเกือบทุกสายพันธุ์ไม่ชอบให้กอดนาน ๆ ยกเว้นว่าถ้าน้องหมานั้นได้รับการฝึกฝนมาเป็นพิเศษอย่างน้องหมาบำบัด แต่คุณรู้ไหมครับว่าการปล่อยไปของคุณ ก็คือการเลิกล้มความตั้งใจ และน้องหมาก็จะมองว่าเขาชนะคุณแล้ว

-เมื่อไม่ได้ดังใจน้องหมาก็จะมาทวง เช่น เมื่อไม่ได้กินข้าวก็มาทวงแบบก้าวร้าวโดยการตะเบ็งเห่าเสียงดัง หรือถึงขั้นคาบจานข้าวมาเขวี้ยง และถ้าคุณรีบทำตามที่เขาต้องการทันทีโดยไม่มีดุหรือลงโทษ คุณก็จะกลายเป็นเด็กในคอนโทรลของเขาไปเลย

อุปกรณ์เสริมเพิ่มออปชั่นปราบน้องหมาชอบร้องเอาแต่ใจ

คุณสามารถแก้ปัญหาสุนัขร้องเอาแต่ใจ และมีนิสัยดื้อด้านด้วยการใช้อุปกรณ์ผู้ช่วยเหล่านี้

ไม้วิเศษ

คุณสามารถเสกไม้ธรรมดาให้กลายเป็นไม้วิเศษได้ เพียงแค่ใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ม้วนให้เล็ก ๆ มาตีลงพื้น หรือตีที่ตัวน้องหมาเมื่อเขาดื้อหรือส่งเสียงร้องเอาแต่ใจ ซึ่งวิธีนี้ไม่ใช่การทารุณน้องหมา เพราะน้องหมาจะไม่เจ็บ เพียงแต่เป็นการเตือนเขาว่าสิ่งที่ทำอยู่ผิด และเขาจะต้องได้รับการลงโทษ

คลิกเกอร์

คลิกเกอร์ (Clicker) คืออุปกรณ์ฝึกน้องหมามาตรฐานสากลซึ่งเป็นที่นิยมมาก โดยจะทำให้น้องหมาเกิดการเชื่อมโยงระหว่าง การกระทำของตน เสียงคลิก และรางวัล

สำหรับเจ้าคลิกเกอร์นี้จะมีขนาดพอ ๆ กับกุญแจรถ ราคาก็แสนถูก เพียง 30 บาทขึ้นไป ซึ่งจะช่วยให้น้องหมาจดจำคำสั่งได้อย่างมีระบบและรวดเร็ว จึงช่วยลดพฤติกรรมน้องหมาจอมดื้อ และชอบร้องเอาแต่ใจได้

วิธีใช้งานคลิกเกอร์ก็ง่ายมากครับ

-ให้คุณยืนอยู่ด้านหน้าน้องหมา ขณะที่ถือคลิกเกอร์เอาไว้ที่มือข้างหนึ่ง แต่ต้องแอบอย่าให้เขาเห็น ส่วนอีกมือถือขนมเอาไว้ให้น้องหมาเห็นชัด ๆ

-โยนขนมให้น้องหมาหรือส่งให้เขากินจากมือ

-จังหวะ “ก่อน” ที่น้องหมาจะกินให้คุณกด 1 คลิกทันที ซึ่งจะทำให้น้องหมาเรียนรู้ว่าหลังเสียงคลิก เขาจะได้รับรางวัล และให้คุณฝึกแบบนี้ติดต่อกันทุกวัน วันละประมาณ 15 นาที

-พอคุณเริ่มเห็นว่าน้องหมาดูจะเข้าใจเสียงคลิกแล้ว ให้คุณเริ่มการ “ออกคำสั่ง” ซึ่งจะเป็นการทำให้เขามีระเบียบวินัยและลดนิสัยชอบเอาแต่ใจได้ โดยให้คุณออกคำสั่งว่า “นั่ง” หรือถ้าไม่ออกเสียงแต่ทำท่ามือคว่ำลงก็ได้

-จังหวะที่น้องหมานั่งลงสนิทให้คุณกด 1 คลิก

-จากนั้นก็ถึงเวลาให้ขนมเป็นรางวัล

-ต่อมาไม่ว่าคุณจะฝึกคำสั่งใดก็ตามก็สามารถใช้วิธีการนี้ได้เลย

นกหวีด

นกหวีด (Whistle) เป็นอุปกรณ์ง่าย ๆ ซึ่งจะเหมาะกับการควบคุมหรือหยุดน้องหมาในระยะไกล โดยเฉพาะถ้าเขากำลังวิ่งหนี พรวดพราดออกนอกประตู หรืออยู่ในที่ที่ไม่ได้ใส่สายจูง คุณจึงควรมีนกหวีดห้อยติดตัวไว้เสมอ

 วิธีการฝึกน้องหมาด้วยนกหวีดทำได้ง่าย ๆ คือ

-เริ่มจากให้คุณฝึกเขาในสถานที่ปิด และคุณยืนอยู่ห่างจากเขาพอสมควร

-เป่านกหวีด 1 ครั้งเพื่อให้เขาหันมา ซึ่งน้องหมาบางตัวก็จะมาทันที แต่บางตัวคุณอาจต้องเรียกชื่อเขาด้วย

-เมื่อเขาวิ่งมาหาให้ลูบหัวเบา ๆ หรือให้ขนม เพื่อให้เขารู้ว่าเมื่อมาตามเสียงนกหวีดเขาจะได้ของรางวัล แต่มีเทคนิคอยู่ว่าอย่าให้เขาเห็นขนม เพราะถ้าเขาหันมาแล้วเห็นขนมเป็นตัวล่อ เขาจะมาเพราะขนม ไม่ได้มาเพราะเสียงนกหวีด ซึ่งคราวต่อไปเขาก็อาจจะไม่สนใจเสียงนกหวีดอีก และเมื่อคุณฝึกเช่นนี้บ่อย ๆ ก็จะทำให้เขาเชื่อฟัง พร้อมทำตัวรับคำสั่งมากขึ้น และเอาแต่ใจตัวน้อยลง

-ต่อมาให้คุณพัฒนาเป็นการฝึกในสถานที่ต่าง ๆ เพื่อให้เขาชินกับทุกที่ทุกสถานการณ์

เทคนิคจัดการกับน้องหมาดื้อ ชอบร้องเอาแต่ใจ

เทคนิคจัดการกับสุนัขดื้อ หรือวิธีจัดการน้องหมาร้องเอาแต่ใจ สามารถทำได้ง่าย ๆ เช่น

ฝึกคำสั่งง่าย ๆ

คุณควรเน้นการฝึกคำสั่งขั้นพื้นฐาน เพราะจะทำให้น้องหมามีวินัย ไม่ปฏิเสธการเชื่อฟัง ทำโดยอัตโนมัติ จึงไม่ผ่านกระบวนการคิด ซึ่งจะทำให้น้องหมาต่อต้านหรือดื้อง่าย

สำหรับคำสั่งง่าย ๆ ที่คุณควรฝึกน้องหมา เช่น นั่ง นอน คอย โดยคุณอาจจะใช้คลิกเกอร์ช่วย และอย่ายอมจนกว่าเขาจะทำได้ตามสั่ง

ต้องมีบทลงโทษ

การลงโทษที่เหมาะสม ไม่เป็นการทารุณน้องหมา ที่คุณสามารถทำได้ทันทีที่เขาดื้อด้านหรือร้องเอาแต่ใจ เช่น

-ให้เข้าไปอยู่ในกรงสัก 30 นาที

-หากเขาดื้อไม่ยอมกิน ก็ไม่ควรเปลี่ยนอาหารใหม่ให้จนกว่าอาหารเก่าจะหมด

-เจ้าของต้องเล่นบทโหดโดยไม่สบตา ไม่สนใจ ทำเหมือนเขาเป็นอากาศธาตุ เพื่อให้น้องหมารู้สึกว่าการแสดงท่าทางเรียกร้องความสนใจของเขาไม่ได้ผลกับคุณ

จัดการน้องหมาส่งเสียงร้องเอาแต่ใจ

น้องหมาที่ร้องน่ารำคาญแบบพร่ำเพรื่อ สามารถจัดการได้โดย…

-เมื่อน้องหมาส่งเสียงร้องเอาแต่ใจ คุณไม่ควรโกรธ แต่ควรแสดงท่าทีที่สงบนิ่ง และส่งเสียงว่า “ชู่” ด้วยน้ำเสียงที่เยือกเย็นเคร่งขรึม ซึ่งจะได้ผลมากกว่าทำเสียงดังหรือเสียงตวาดครับ เพราะจะเป็นโทนเสียงที่ดูน่า “น่าเกรง” มากกว่า “น่ากลัว”

-น้องหมาที่เห่าเก่ง ส่งเสียงบ่นผิดปกติ จะหมดพิษสงหากคุณให้เขาได้ปลดปล่อยพลังงาน ดังนั้นพาเขาออกไปวิ่ง และทำกิจกรรมเยอะ ๆ รับรองว่ากลับมานอนสลบ ไม่บ่นสักแอะเลยครับ

-คุณสามารถเบี่ยงเบนความสนใจจากการร้องเอาแต่ใจ โดยเฉพาะเมื่อเขาร้องไม่ให้คุณออกจากบ้านได้ ด้วยการให้ของใช้ส่วนตัวที่มีกลิ่นคุณกับเขา ก็จะทำให้เขารู้สึกอบอุ่นใจว่ามีคุณอยู่ใกล้ ๆ

เจ้าของต้องสตรอง

 สิ่งสำคัญที่สุดที่จะป้องกันไม่ให้น้องหมาดื้อ หรือส่งเสียงร้องเอาแต่ใจก็คือ ตัวเจ้าของต้องเป็นจ่าฝูง ต้องเข้มแข็ง จำไว้เสมอว่าการยอมเท่ากับเป็นการสนับสนุนให้น้องหมาทำพฤติกรรมไม่ดีครับ

ดังนั้นไม่ว่าคุณจะกลัว ตื่นเต้น โกรธ รำคาญ สงสาร หรือมีอารมณ์ในแง่ลบที่เกิดขึ้น ยามที่น้องหมาทำตัวไม่ดี คุณก็ควรเก็บอาการให้อยู่ และแสดงท่าทีที่สงบเยือกเย็น เพื่อให้น้องหมารู้สึกว่าคุณคือผู้นำ และเขาจะต้องฟังคำสั่งคุณเท่านั้น

นอกจากนี้การที่เจ้าของมอบความรักให้เขาอย่างเหมาะสม เอาใจใส่ดูแล มีเวลาให้เขาสม่ำเสมอ ก็จะทำให้น้องหมามีอารมณ์ที่สมดุล ไม่เรียกร้องเอาแต่ใจ หรือดื้อด้านเกินไป ซึ่งน้องหมาจะค่อย ๆ ปรับตัว ใช้ชีวิตแบบปกติ “ตามสัญชาตญาณ” ไม่ใช่ “ตามใจตัวเอง” ครับ

เมื่อคุณค่อย ๆ สอน และใช้เวลาร่วมกับน้องหมามากขึ้น คุณจะพบว่าพฤติกรรมชอบร้องเอาแต่ใจ และทำตัวดื้อดึงของเขาลดลง หรือหากยังเป็นอยู่คุณก็สามารถหาทางรับมือได้อย่างถูกต้อง ซึ่งเรื่องแบบนี้จำเป็นต้องใช้เวลาครับ เพราะเขาเป็น “เด็กดื้อ” มาตั้งนาน จู่ ๆ จะให้เป็น “เด็กดี” ก็ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย แต่รับรองว่าไม่ได้ยากเกินความสามารถ หากคุณมีความอดทนและตั้งใจจริงครับ 

บทความล่าสุด