น้องหมาตั้งท้อง เจ้าของมือใหม่ต้องรู้อะไรบ้าง | คู่มือเตรียมตัว


น้องหมาตั้งท้อง

คุณอาจจะยังไม่มีลูก และไม่มีประสบการณ์ที่เกี่ยวกับการมีน้อง หรือมีเด็ก ๆ ในบ้าน แต่จู่จู่ก็เหมือนน้องหมาที่บ้าน กำลังจะได้เป็นแม่หมาป้ายแดง ขณะที่คุณเองก็กำลังจะได้เป็นคุณตาคุณยายมือใหม่  และกำลังจะได้อุ้มหลาน

แต่ความดีใจและตื่นเต้น ก็มาพร้อมกับความกังวลต่าง ๆ นานา ซึ่งแน่นอนว่าด้วยความที่คุณยังไม่เคยรับมือกับน้องหมาที่กำลังตั้งท้อง คุณจึงไม่แน่ใจว่าจะทำอย่างไรกับสถานการณ์นี้ดี

หากคุณกำลังมองหาคำแนะนำดี ๆ ก็ลองมาดูกันสิครับว่า มีอะไรบ้างที่คุณจะสามารถช่วยน้องหมาที่กำลังตั้งท้องได้ และคุณจะต้องเตรียมการรับมือกับเรื่องนี้อย่างไรดี เพื่อให้น้องหมามีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งตัวน้องหมา ลูก ๆ ที่กำลังจะออกมา และรวมทั้งตัวคุณด้วย เพราะนั่นหมายถึงภาระหน้าที่ที่จะต้องเพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายที่ปฏิเสธไม่ได้เลยครับ

สัญญาณที่บอกว่าน้องหมากำลังจะเป็นคุณแม่

น้องหมาที่กำลังตั้งท้อง หรือกำลังจะได้เป็นคุณแม่ ก็มักจะมีสัญญาณฟ้องที่คุณสามารถสังเกตได้ โดยเฉพาะถ้าคุณสงสัยว่าน้องหมาหนุ่มมาผสมกับลูกสาวคุณแล้ว น้องหมาของคุณก็มักจะมีอาการเหล่านี้

-หากคุณสงสัยว่าน้องหมาได้รับการผสมแล้ว ให้คุณนับต่อไปอีก 5 สัปดาห์ ก็จะเห็นว่าช่วงนี้น้องน้ำหนักมากขึ้นจนดูอวบอัด ซึ่งก่อนหน้านั้นจะยังเห็นไม่ชัดครับ เพราะเด็ก ๆ ในท้อง ก่อน 5 สัปดาห์จะยังโตช้าอยู่

-เต้านมและท้องดูขยายใหญ่

-หัวนมสีชมพูชัดเจนขึ้น ซึ่งจะสังเกตได้ในน้องหมาที่มีผิวสีอ่อน

-บริเวณปากช่องคลอดจะขยายใหญ่ขึ้น และบางครั้งก็พบของเหลวสีชมพูอ่อนไหลออกมาด้วย

-ถ้าลองคลำท้องดูจะรู้สึกได้ทันทีว่ามีลูกหมาอยู่เต็มท้อง ยกเว้นแม่หมาที่อ้วนมากก็จะคลำยากครับ

-พฤติกรรมการกินของน้องหมาอาจเปลี่ยนไปคือ หิวบ่อย กินจุขึ้น หรือไม่ก็เบื่ออาหารไปเลย แต่โชคดีมากครับที่น้องหมาส่วนใหญ่จะไม่มีอาการแพ้ท้องแบบคน

น้องหมาตั้งท้องนานแค่ไหน

สุนัขใช้เวลาตั้งท้องเพียงแค่ 63-65 วันเท่านั้น ซึ่งในระหว่างนี้ เราก็ควรจัดเตรียมตัวหลายอย่าง เช่น พาสุนัขไปตรวจครรภ์ หาอาหารเพื่อบำรุงแม่สุนัข หรือ เตรียมพื้นที่เพื่อให้ลูกสุนัขอยู่

ใช่แล้วครับ เพียงแค่ 2 เดือนนิด ๆ หลาน ๆ ของคุณก็พร้อมจะลืมตาดูโลกแล้ว ซึ่งเราก็ต้องเตรียมตัวหลายอย่างเอาไว้รอทั้งคุณแม่และคุณลูก เพื่อไม่ให้เมื่อถึงวันคลอดเกิดความไม่พร้อม และนั่นจะหมายถึงหายนะเลยนะครับ

ในท้องน้องหมามีลูกกี่ตัว

โดยทั่วไปไม่ว่าจะน้องหมาสายพันธุ์ไหน ก็จะคลอดลูกครอกละหลายตัว แต่ก็มีสถิติว่าแม่หมาแต่ละสายพันธุ์จะให้กำเนิดลูกหมาจำนวนมากน้อยแตกต่างกันไปครับ เช่น

-พันธุ์ปอมเมอเรเนียน (Pomeranian)                                        มักจะมีลูกครอกละ 2 ตัว

-พันธุ์ปั๊ก (Pug)                                                                                         มักจะมีลูกครอกละ  2-3 ตัว

-พันธุ์พุดเดิ้ลทอย (Poodle Toy)                                                มักจะมีลูกครอกละ 3  ตัว

-พันธุ์มิเนเจอร์พินช์เชอร์ (Miniature Pinscher)                       มักจะมีลูกครอกละ 3-4 ตัว

-พันธุ์ชิสุห์ (Shih Tzu)                                                               มักจะมีลูกครอกละ 3-4  ตัว

-พันธุ์พุดเดิ้ลมิเนเจอร์ (Poodle Miniature)                               มักจะมีลูกครอกละ 4 ตัว

-พันธุ์ค็อกเกอร์ สเปเนียล (Cocker Spaniel)                             มักจะมีลูกครอกละ 4-5 ตัว

-พันธุ์ดัชชุน (Dachshund)                                                         มักจะมีลูกครอกละ 4-5 ตัว

-พันธุ์บางแก้ว (Thai bangkaew)                                               มักจะมีลูกครอกละ 5-6 ตัว

-พันธุ์บีเกิล (Beagle)                                                                  มักจะมีลูกครอกละ 5-6 ตัว

-พันธุ์บ็อกเซอร์ (Boxer)                                                  มักจะมีลูกครอกละ 5-6 ตัว

-พันธุ์ดัลเมเชียน (Dalmatian)                                                    มักจะมีลูกครอกละ 5-6 ตัว

-พันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ (Siberian Husky)                                    มักจะมีลูกครอกละ 5-6  ตัว

-พันทางทั่วไป (พันทาง หรือพันธุ์ผสม)                                   มักจะมีลูกครอกละ 6-8 ตัว

-พันธุ์ไทยหลังอาน (Thai Ridgeback)                                      มักจะมีลูกครอกละ 6-10 ตัว

-พันธุ์โดเบอร์แมน (Doberman)                                                มักจะมีลูกครอกละ 7-8 ตัว

-พันธุ์โกลเดน รีทรีฟเวอร์ (Golden Retriever)                         มักจะมีลูกครอกละ 7-8 ตัว

-พันธุ์ลาบาดอร์ รีทรีฟเวอร์ (Labrador Retriever)                   มักจะมีลูกครอกละ 7-8 ตัว

-พันธุ์ร็อตไวเลอร์ (Rottweiler)                                                 มักจะมีลูกครอกละ 7-8   ตัว

-พันธุ์เซนต์เบอร์นาร์ด (St. Bernard)                                        มักจะมีลูกครอกละ 7-8  ตัว

-พันธุ์เยอรมัน เชเฟิร์ด (German Shepherd)                             มักจะมีลูกครอกละ 8 ตัว

พาน้องหมาไปฝากท้อง

เมื่อคุณสงสัยว่าน้องหมาตั้งท้อง ก็ควรพาไปฝากท้องที่คลินิกหรือโรงพยาบาลทันที เพื่อให้น้องหมาปลอดภัยและได้รับการดูแลที่ถูกต้อง ซึ่งคุณหมออาจจะวินิจฉัยด้วยวิธีการเหล่านี้

การอัลตราซาวด์ คือเมื่อลูกหมาอายุได้สัก 30 วันก็จะสัมผัสได้ถึงการเต้นของหัวใจลูกหมา

-การเอกซเรย์ คือเมื่อลูกหมาอายุได้ประมาณ 45 วันขึ้นไปก็จะเห็นหัวกะโหลกได้ชัดเจน

นอกจากนี้คุณหมอก็จะประเมินช่วงเวลาคลอดให้ และยังแนะนำเจ้าของเรื่องการดูแลแม่หมาด้วยวิธีต่าง ๆ ซึ่งเจ้าของควรรับฟังและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

อย่างไรก็ตามเจ้าของบางคนอาจข้ามเรื่องการฝากท้องน้องหมาเพื่อประหยัดงบ ซึ่งก็สามารถทำได้ โดยเฉพาะถ้าคุณพอจะรู้ว่าน้องหมาตั้งท้องมานานเท่าไรแล้ว จะได้กะประมาณช่วงเวลาคลอดได้

บำรุงคุณแม่…เผื่อคุณลูกในท้อง

อาหารหลัก

อาหารหลักของคุณแม่หมาที่กำลังตั้งท้องก็คือ อาหารปกติที่เขาเคยกินอยู่นั่นแหละครับ แต่อาจจะเพิ่มโปรตีนที่ดีลงไปผสมกับอาหารเม็ด เช่น อกไก่ต้ม ไข่ต้ม  ปลาแซลมอนต้มสุก ซึ่งคุณอาจจะต้องปรับปริมาณให้เขากินมากขึ้นอีกหน่อย และน้องหมาจะบอกคุณเองถ้าเขาต้องการอีก ดังนั้นคุณจึงต้องสังเกตอาการเขาให้ดี

อาหารเสริม

อาหารเสริมที่คุณควรให้น้องหมาตั้งท้องกิน ควรเป็นวิตามินหรืออาหารเสริมสำหรับน้องหมาโดยเฉพาะ เพื่อเสริมส่วนที่คาดว่าแม่หมาจะขาดเพราะต้องนำไปใช้เลี้ยงลูก และอาหารเสริมที่จำเป็นสำหรับแม่หมาที่กำลังตั้งท้อง เช่น

-วิตามินดี และแคลเซียม ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟัน

-ธาตุเหล็ก ช่วยบำรุงเลือดโดยเฉพาะวันคลอดที่จะต้องเสียเลือด

-วิตามินบีรวม ช่วยบำรุงประสาทและสมอง และยังช่วยลดความเครียด ความเหนื่อยล้า จากการอุ้มท้องได้ด้วย

-กรดอะมิโนรวม ช่วยซ่อมแซมและฟื้นฟูส่วนที่สึกหรอ

นวดบำบัดให้ผ่อนคลาย

ช่วงนี้น้องหมาตั้งท้องควรได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษครับ ดังนั้นการนวดผ่อนคลายให้เขา ก็จะช่วยให้น้องหมาเบาสบายตัว บรรเทาอาการปวดหลังเพราะต้องอุ้มท้องหนัก ๆ และยังช่วยให้สุขภาพจิตน้องหมาดีขึ้นด้วย

ข้อควรระวัง…อย่าทำกับน้องหมาตั้งท้อง

มีเรื่องที่ต้องระวังสำหรับน้องหมาที่กำลังตั้งท้องมาฝากครับ

-คุณไม่ควรพยายามคลำท้องน้องหมาบ่อย ๆ เพราะหากมือแรงเกินไปก็จะทำให้ลูกหมาได้รับอันตรายได้

-ระวังการแท้ง  (abortion)  ของน้องหมาด้วยนะครับ เพราะแม้แต่การติดเชื้อหรือภาวะโรคที่เป็นอยู่ ก็จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงการแท้งได้

-ลดกิจกรรมเสี่ยง ๆ กิจกรรมที่ต้องออกแรงสำหรับน้องหมาในช่วงนี้ เพียงแค่พาเขาไปเดินเล่นเบา ๆ ก็พอแล้ว เพื่อไม่ให้เกิดการกระทบกระเทือนกับน้องหมาในท้อง โดยเฉพาะช่วง 6 สัปดาห์แรก ควรงดกิจกรรมหนัก ๆ ไปเลยครับ เนื่องจากเป็นช่วงที่ลูกหมาโตไวจนตัวหนักมาก

สัญญาณเตือนก่อนคลอดแบบด่วน ๆ  

ถ้าคุณนับวันแล้วรู้ว่าน้องใกล้คลอดแล้ว และเมื่อลองบีบหัวนมดู ปรากฏว่ามีน้ำนมไหลออกมา แสดงว่าอีกไม่เกิน 72 ชั่วโมง หรือ 3 วัน คุณก็จะได้อุ้มหลานแล้ว

เตรียมอะไรไว้ต้อนรับคุณแม่และคุณลูก

เจ้าของควรเตรียมการสำหรับน้องหมาตั้งท้องไว้แต่เนิ่น ๆ เพื่อให้เมื่อคลอดแล้วไม่โกลาหลวุ่นวาย เช่น
-เบาะนอนนุ่ม ๆ สำหรับคุณแม่คุณลูก ที่สะอาดและปลอดภัย

-ผ้านุ่ม ๆ ไว้ซับทำความสะอาด

-พัดลมเปิดอ่อน ๆ เพื่อให้ระบายอากาศ

-นมแพะสำหรับบำรุงสุขภาพแม่หมา

-จัดที่ขับถ่ายให้น้องหมาห่างจากที่นอนพอสมควร เพื่อให้น้องหมามีสุขอนามัยที่ดี

จะคลอดที่ไหน กับคุณหมอ หรือทำคลอดเองที่บ้าน

ข้อดีของการทำคลอดกับคุณหมอ

-เจ้าของไม่ต้องกังวลว่าตนจะต้องรับหน้าที่เป็นหมอทำคลอดเสียเอง

-หากเกิดกรณีที่คลอดยาก คลอดผิดปกติ คุณหมอก็สามารถแก้ปัญหาได้ทันท่วงที

-คุณหมอจะดูแลแม่หมา และลูกหมาในเบื้องต้นหลังคลอด พร้อมทั้งแนะนำการดูแลให้เจ้าของด้วย

-หากจำเป็นจะต้องมีการรักษาต่อ คุณก็สามารถฝากน้องหมาที่สถานพยาบาลนั้นได้เลย

ข้อดีของการทำคลอดเองที่บ้าน

-แน่นอนว่าไม่เสียเงิน แต่คุณต้องมั่นใจว่าคุณหรือคนในบ้านมีประสบการณ์เคยทำคลอดน้องหมามาก่อน และรู้วิธีดูแลลูกหมาและแม่หมาหลังคลอด

-สะดวกเพราะไม่ต้องเคลื่อนย้ายน้องหมา คลอดตรงไหนก็สามารถนอนตรงนั้นได้เลย

-น้องหมาจะรู้สึกปลอดภัยและอุ่นใจเพราะอยู่ในที่ของเขาเอง

เทคนิคดูแลคุณแม่หมาหลังคลอด 

มีเทคนิคดูแลน้องหมาหลังคลอดที่คุณควรใส่ใจ เช่น

-คุณควรเช็ดทำความสะอาดให้แม่หมาเสียก่อน

-จากนั้นเขาอาจจะกินน้ำหรือกินข้าวนิดหน่อยก็ตามใจเขา และเมื่อเขาเพลียก็ปล่อยให้เขาหลับยาว ๆ

-ระหว่างนี้คุณยังไม่ควรรีบแยกลูกหมาจากแม่หมา เพราะแม่หมาจะยังหวงลูกมาก นอกจากว่าน้องหมาคุณไม่หวง คุณก็สามารถแยกลูกหมาออกมา เพื่อให้แม่หมาได้พักผ่อนเต็มที่

-ให้คุณคอยสังเกตว่าแม่หมามีอาการผิดปกติหลังคลอดหรือไม่ เพราะแม่หมาที่คลอดลูกแล้วก็อาจจะเสี่ยงกับอาการเหล่านี้ เช่น มดลูกอักเสบ เต้านมอักเสบ ไข้น้ำนม (milk fever) ซึ่งมาจากระดับแคลเซียมในเลือดแม่หมาต่ำลงทันที

เทคนิคดูแลลูกหมาแรกคลอด

มีเทคนิคดูแลลูกหมาหลังคลอดที่เจ้าของควรรู้มาฝาก เพราะน้องหมาแรกเกิดยังอ่อนแอมาก ดังนั้นคุณจึงควรนำคำแนะนำเหล่านี้ไปใช้ เช่น

-หากน้องหมาไม่กินนมแม่ หรือกินนมแม่ไม่พอ คุณอาจต้องช่วยป้อนนมแพะให้น้องหมาด้วย

-ถ้าน้องหมาไม่ยอมถ่าย คุณสามารถกระตุ้นการถ่ายโดย หลังอาหารให้คุณนำสำลีชุบน้ำอุ่น แล้วนำมาเช็ด ตามหน้าตามตัว ท้อง และอวัยวะเพศลูกหมา

-ลูกหมาแรกเกิดควรอยู่ในอุณหภูมิที่ค่อนข้างอุ่น คือประมาณ 32 องศาเซลเซียส แต่ถ้ามีลูกหมาหลายตัวคุณอาจทำให้ห้องเย็นขึ้นด้วยการเปิดพัดลมหรือแอร์ช่วย แต่การเปิดพัดลมจะต้องไม่ให้โดนตัวลูกหมาตรง ๆ เพราะลูกหมาจะป่วยง่าย

-การจัดแสงไฟในห้องนอนน้องหมา คุณควรให้มีแสงไฟเพียงมุมเดียว เพราะลูกหมามักจะหลบแสงไฟที่จ้าเกินไป ดังนั้นจึงมักจะเห็นว่าลูกหมาจะชอบไปนอนกองรวมกันในที่ที่มืดกว่า

-หากคุณมีเครื่องชั่งดิจิตอล ลองชั่งน้ำหนักตัวลูกหมาทุกวันแล้วบันทึกไว้ ก็จะได้รู้ว่าตัวไหนมีพัฒนาการในการเจริญเติบโตดีที่สุด และตัวไหนอาจต้องการการขุนเป็นพิเศษ

– ลูกสุนัขในช่วงแรก ร้องบ่อย แถมร้องตอนกลางคืนด้วย ไม่ต่างจากเด็กทารกเลย ในส่วนนี้เราก็เตรียมตัวไม่ได้นอนไว้นะครับ หากมีภาระอะไรก็ทำให้เสร็จก่อนมีลูกหมา จะได้ไม่ต้องอดหลับอดนอน

มีงบเลี้ยงลูกสุนัขพอแล้วหรือยัง?

สิ่งสำคัญที่คุณจะทำเป็นลืมไม่ได้เลยก็คือ เมื่อน้องหมาของคุณคลอดหลาน ๆ ออกมาแล้ว คุณมีงบประมาณสำหรับเจ้าตัวน้อยทั้งหลายแล้วหรือยัง ลองคำนวณดูสิครับว่าคุณจะต้องมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง และคูณจำนวนลูกหมาเข้าไปเลย ซึ่งบางทีคุณอาจจะตกใจว่าค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงชีวิตเล็ก ๆ เหล่านี้ไม่ใช่เล่นเลย และคำนวณอย่างเดียวไม่พอครับ ถึงเวลาต้องรีบปั๊มเงินมาเลี้ยงเจ้านายตัวน้อย ๆ แบบด่วน ๆ แล้วละครับ  

หากจะแบ่งปันลูกหมาควรทำอย่างไรดี

เป็นไปได้ว่าเมื่อคุณคิดอย่างถ้วนถี่แล้วก็พบว่า คุณไม่น่าจะเลี้ยงลูกหมาทั้งหมดไหว การจัดสรรน้องหมาไปตามบ้านต่าง ๆ อาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่คุณควรสนใจ เช่น ให้ญาติ เพื่อน คนรู้จัก หรือนำไปโพสต์หาบ้านตามกลุ่มหรือเพจต่าง ๆ ซึ่งคุณควรมีเงื่อนไขในการส่งต่อน้องหมาให้ผู้อุปการะ โดยวางกฎเกณฑ์อย่างรัดกุม แม้จะดูเวอร์ไปบ้าง แต่ก็ยังดีกว่าให้น้องหมาไปอยู่ในมือคนใจร้ายนะครับ

แต่สิ่งที่ไม่แนะนำเลยก็คือ การขายครับ เพราะคุณไม่ควรขายชีวิตสัตว์ โดยเฉพาะชีวิตน้อย ๆ ที่มาจากเลือดเนื้อของน้องหมาคุณเอง การให้ลูกหมาแบบฟรี ๆ กับผู้ที่พร้อมจะรับผิดชอบ และรักน้องหมาจริง ย่อมจะทำให้คนให้ก็สบายใจ คนรับไว้ก็มีความสุข (อันนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวครับ เห็นต่างก็ไม่ว่ากัน)     

คุณคงเห็นแล้วว่าแม้แต่น้องหมาตั้งท้อง เจ้าของก็ยังต้องเตรียมการรับมือไม่แพ้ลูกคน ดังนั้นถ้าคุณได้วางแผนก่อนคลอดให้ดี และเตรียมงบประมาณค่าใช้จ่ายรอไว้ คุณก็จะไม่ต้องกังวลมากนัก เพราะเมื่อน้องหมาคลอดแล้ว คุณจะแทบไม่มีเวลาได้พักผ่อนเลยละครับ ไหนจะต้องฟื้นฟูดูแลคุณแม่หมาหลังคลอด ไหนจะต้องรับมือกับเจ้าลูกหมาตัวยุ่งอีก ดังนั้นถ้าตอนนี้ยังพอมีเวลา ก็ลิสต์รายการสิ่งที่คุณจะต้องทำ และจัดการไว้แต่เนิ่น ๆ ได้เลย เพราะเผลอแป๊บเดียว คุณก็จะได้อุ้มหลานแบบไม่ทันตั้งตัวเลยละครับ  

บทความล่าสุด