อยากเลี้ยงหมาเพิ่ม ทำยังไงดี ? มาดูทริคก่อนพาตัวใหม่เข้าบ้าน


อยากเลี้ยงสุนัขเพิ่ม ต้องรู้อะไรบ้าง

เหล่าทาสหมาคงจะเข้าใจกันดีนะครับว่า เมื่อได้ลองเลี้ยงหมาสักตัวแล้ว ก็เริ่มอยากเลี้ยงตัวที่ 2 ตัวที่ 3 ตามมา มันคงจะดีหากหมาตัวเก่ากับหมาตัวใหม่เข้ากันได้ง่าย 

แต่หลายคนมักจะเจอปัญหา เช่น หมาตัวใหม่ทะเลาะกับหมาตัวเก่า เจอหน้ากันทีไรก็ทะเลาะกันเป็นประจำ ฯลฯ เจอแบบนี้แล้วควรจะทำยังไงดี ? 

อยากเลี้ยงหมาเพิ่ม ทำยังไงดี ?

ทริคแรกที่ผมจะแนะนำคือ หมาทั้ง 2 ตัว ควรเป็นหมาคนละเพศกัน เช่น หากหมาตัวเก่าเป็นเพศเมีย ควรเลือกหมาตัวใหม่ที่เป็นเพศผู้ เพราะถ้าเป็นหมาเป็นเพศเมียหรือเพศผู้ทั้งคู่ มีโอกาสที่จะทะเลาะกันสูงกว่า หรือเลือกหมาตัวใหม่ที่มีขนาดเล็กกว่า จะช่วยลดปัญหาได้เช่นเดียวกัน

แต่อย่างไรก็ตาม หากอยากจะเลี้ยงหมาเพศเดียวกันหรือขนาดใกล้เคียงกันก็ไม่ผิดนะครับ เพราะต้องดูปัจจัยอื่น ๆ ประกอบไปด้วย โดยเฉพาะวิธีดูแลพวกมันในช่วงแรกที่พาเข้ามาเลี้ยงในบ้าน ซึ่งในส่วนนี้จะช่วยลดปัญหาจุกจิกที่จะตามมาในระยะยาวได้ 

ปัญหาที่คุณต้องคิดก่อนมีน้องหมาเพิ่ม

เคยสังเกตไหมครับว่า ทำไมหมาชอบเห่าเสียงดัง ตอนที่กำลังจะออกไปนอกบ้าน หรือกลับมาเจอหมากัดของในบ้านจกเละไปหมด นั่นแหละครับ เป็นส่วนหนึ่งที่หมาใช้เรียกร้องความสนใจจากเจ้าของ 

หากเลี้ยงหมาเพิ่ม ก็จะช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ได้ส่วนหนึ่ง ที่จะทำให้หมารู้สึกเหงาและเครียดน้อยลง เมื่อต้องอยู่บ้านตามลำพัง เพราะมีเพื่อนเล่นและมีเรื่องอื่นดึงดูดความสนใจมากกว่า 

ปัจจัยที่ควรคำนึงถึง มีอะไรบ้าง

แต่ทั้งนี้ก่อนจะตัดสินใจเลี้ยงหมาเพิ่ม ก็ควรจะคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ ประกอบไปด้วย เช่น 

  • ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่นค่าอาหาร ของใช้ รวมไปถึงค่ารักษาพยาบาล ที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้อาจจะลองคำนวณจากค่าใช้จ่ายในส่วนของสัตว์เลี้ยง 1 ตัว ต่อเดือน แล้วพิจารณาดูว่าสามารถซัพพอร์ตตรงนี้ได้มากน้อยแค่ไหน  
  • เวลาในการดูแลเอาใจใส่ เพราะถึงแม้การนำหมาตัวใหม่เข้ามา จะทำให้หมามีเพื่อนเล่น แต่พวกมันก็ต้องการการเอาใจใส่จากเจ้าของด้วยเหมือนกัน ดังนั้นควรจัดสรรเวลาให้ดี หากคิดจะเลี้ยงหมาตัวใหม่เพิ่ม 

โดยเฉพาะลูกหมา เพราะหมาในวัยนี้ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ ควรมีเวลาในการสอนหรือฝึกฝนเพื่อปรับพฤติกรรม 

  • สถานที่เลี้ยง ควรมีพื้นที่เพียงพอ ให้พวกมันวิ่งเล่นและพักผ่อน ไม่เลี้ยงแบบแออัดจนเกินไป เช่น หมาขนาดกลางถึงใหญ่อย่าง โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ เป็นพันธุ์ที่ต้องการบริเวณออกกำลังกาย ระบายพลังงาน 
  • นิสัยของหมาแต่ละสายพันธุ์ อย่างที่ได้กล่าวไปว่า หมาแต่ละชนิดมีนิสัยแตกต่างกัน บางชนิดอาจจะชอบเล่น แต่บางชนิดชอบที่จะอยู่เงียบ ดังนั้นควรศึกษาจุดนี้ให้ละเอียดว่าเหมาะที่เราจะนำมาเลี้ยงหรือไม่ 

No touch, no talk, no eye contact กฎเหล็กเมื่อเจอหมาตัวใหม่    

กฎสำคัญเมื่อเจอหมาตัวใหม่ แม้จะน่ารักน่าเอ็นดูแค่ไหน แต่ก็ไม่ควรเป็นฝ่ายเดินเข้าไปหาก่อน เพราะในมุมมองของพวกมันนั้น จะรู้สึกว่าเราเป็นผู้ตามทันที 

สิ่งที่ควรทำก็คือ ยืนรอเฉย ๆ ให้หมาเป็นฝ่ายเดินเข้ามาหาเราก่อน ซึ่งวิธีนี้จะทำให้พวกมันมองว่าเราเป็นผู้นำหรือจ่าฝูง

ในขณะเดียวกันเมื่อพาหมาตัวใหม่เข้ามาในบ้านแล้ว ก็ต้องปฏิบัติในลักษณะเดียวกัน นั่นก็คือ ทำให้หมาทุกตัวเห็นว่า เราเป็นเจ้าของบ้าน ไม่ใช่หมาตัวใดตัวหนึ่ง 

ที่สำคัญควรปฏิบัติกับหมาทุกตัวอย่างเท่าเทียม ไม่โอ๋หรือตามใจตัวใดตัวหนึ่งมากเกินไป เช่น หากมีกฎห้ามหมาตัวเก่า ก็ต้องสอนให้หมาตัวใหม่ทำแบบเดียวกัน 

วิธีพาหมาตัวใหม่เข้าบ้าน แบบไร้ปัญหา 

หากตัดสินใจที่จะเลี้ยงหมาเพิ่ม และไม่อยากให้หมาตัวเก่ากับหมาตัวใหม่ทะเลาะกัน ให้ค่อย ๆ ทำตามทีละขั้นตอนนะครับ

  1. แสดงให้รู้ว่าเราเป็นเจ้าของบ้าน โดยให้หมานั่งรอที่หน้าประตู แล้วเราเดินนำเข้าประตูไปก่อน รอสักพักจึงค่อยปล่อยหมาตัวใหม่เดินตามเข้ามา 
  2. ใส่สายจูงพาเดินสำรวจบ้าน เพื่อให้หมาทำความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อม และคอยกระตุกสายจูงเพื่อเป็นการเตือนไม่ให้เข้าไปในพื้นที่ห้าม ระหว่างนี้ก็อย่าลืมกักบริเวณหมาตัวเก่าไว้ด้วยนะครับ 
  3. เล่นกับหมาตัวเก่า เพื่อลดพลังงานและความตื่นเต้น ก่อนจะพาออกเดินเล่นกับหมาตัวใหม่ 
  4. พาไปเดินเล่นพร้อมหมาตัวเก่า โดยการเดินนำและใส่สายจูงหมาไว้ทั้งคู่ และจับสายจูงไว้คนละมือ เพื่อรักษาระยะห่าง พร้อมกับคอยสังเกตท่าทีของหมาทั้งคู่ หากเริ่มมีการข่มขู่ หรือทำท่าจะกัด ให้รีบตักเตือนแล้วจับแยก 
  5. เดินนำเข้าประตูไปก่อน เพื่อเป็นการย้ำว่าเราคือเจ้าของบ้าน ไม่ควรปล่อยให้หมาตัวใดตัวหนึ่งเดินนำมาก่อน เพราะไม่อย่างนั้นหมาจะคิดว่าตัวเองเป็นจ่าฝูงและมองฝ่ายเดินตามเป็นผู้อาศัยทันที 
  6. แยกที่นอน โดยใช้สายจูงจูงหมาไปยังพื้นที่ที่เตรียมไว้ แล้วค่อยถอดสายจูง เพื่อเป็นการบอกว่าบริเวณตรงนั้น เป็นพื้นที่สำหรับพวกมัน 

ในระหว่างนี้หากลองเรียกชื่อดู แล้วหมาไม่สนใจ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะนั่นแปลว่าหมารู้สึกว่าที่

ตรงนั้นเป็นโซนที่ปลอดภัยของตัวเองแล้ว

  • ไม่ใช้ของร่วมกัน แยกของใช้ของใครของมัน ไม่ว่าจะเป็นถ้วยใส่อาหาร ถ้วยใส่น้ำ รวมไปถึงของเล่นต่าง ๆ 

หลังจากผ่านวันแรกไปแล้ว เจ้าของควรจัดตารางเวลาในการดูแลหมาแต่ละตัวให้เหมาะสม เช่น พาหมาทั้งหมดออกไปเดินเล่นพร้อมกัน ในระหว่างนั้นหากหมาไม่ทะเลาะกัน ควรให้ขนมเป็นรางวัล 

แต่ถ้าเริ่มมีสัญญาณไม่ดี ควรแยกหมาออกจากกันให้เร็วที่สุด โดยนำไปขังไว้ในพื้นที่หรือกรงของแต่ละตัวประมาณ 20-30 นาที หรือจนกว่ามีท่าทีสงบลง ค่อยลองปล่อยออกมาเดินเล่นด้วยกันอีกครั้ง 

ที่สำคัญคือ ไม่ควรลงโทษหมาตัวใดตัวหนึ่ง แม้จะเป็นฝ่ายที่เริ่มก่อน เพราะอาจจะเกิดการเขม่นกันในฝูง อีกทั้งยังเป็นธรรมชาติของหมา ไม่แปลกหากช่วงแรกหมาตัวเก่าจะหวงเจ้าของ หรือรู้สึกไม่ปลอดภัยที่มีหมาตัวใหม่เข้ามาในอาณาเขต

คำแนะนำเพิ่มเติม : สำหรับบ้านที่มีเด็กเล็ก ไม่ควรปล่อยให้เล่นกันตามลำพัง และควรสอนให้เด็กรู้จักวิธีเล่นกับหมาอย่างเหมาะสม ไม่ทุบตีหรือทำร้าย เพราะอาจจะเป็นอันตรายได้ 

วิธีให้อาหาร เพื่อไม่ให้สุนัขทะเลาะกัน

เมื่อถึงเวลาให้อาหารควรตั้งแยกกันคนละจุด หากมีหมาตัวใดตัวหนึ่งกินอาหารเสร็จก่อน พยายามอย่าให้หมาตัวแรกเข้าไปยุ่งชามข้าวของอีกตัว และควรเก็บชามไปทำความสะอาดเสมอหลังหมากินอาหารเสร็จ

ในกรณีที่หมาไม่ยอมกินข้าว ในช่วงแรกอาจจะให้เฉพาะอาหารที่พวกมันชอบไปก่อน แล้วค่อยปรับสัดส่วนไปทีละนิด เช่น นำมาผสมกับอาหารเม็ด ให้ต่อไปอีก 1-2 สัปดาห์ เมื่อหมาเริ่มคุ้นเคย ค่อยเปลี่ยนเป็นอาหารเม็ดทั้งหมด 

วิธีสร้างความคุ้นเคย ระหว่างสุนัขด้วยกัน

ถ้าอยากให้หมารู้จักกันเร็วขึ้น อาจจะนำตุ๊กตาของตัวใหม่ให้หมาตัวเก่าลองดม เพื่อทำความคุ้นเคยกับกลิ่นก่อน 

อีกหนึ่งวิธีคือ สลับเวลาปล่อยหมามาเดินเล่นบริเวณบ้าน เช่น ขังหมาตัวเก่าในกรง ในขณะที่ปล่อยหมาตัวใหม่ออกมาเดินเล่น

กักแยกบริเวณ เมื่อต้องอยู่ตามลำพัง 

หากหมาตัวเก่าและหมาตัวใหม่ยังไม่คุ้นเคยกัน มีท่าทีระแวงกันบ้าง เมื่อถึงเวลาที่ต้องปล่อยให้อยู่บ้านกันตามลำพัง ควรกักแยกบริเวณก่อน แล้วค่อยปล่อยให้อยู่ด้วยกัน หลังจากที่หมาทั้งคู่เริ่มเป็นมิตรกันแล้ว 

นอกเหนือจากทริคต่าง ๆ ที่แนะนำกันไปแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้กันเลยนั่นก็คือ ให้เวลาหมาตัวใหม่ค่อย ๆ ปรับตัว และใช้ความอดทนในช่วงแรก ไม่ว่าจะเป็นการพยายามผูกมิตรให้เข้ากับหมาตัวเก่า ปรับเปลี่ยนนิสัย ไม่ว่าจะเป็นการกิน ขับถ่าย และการนอน เพราะหากปล่อยปะละเลยหรือใช้ความรุนแรงในการลงโทษหมา ก็อาจจะส่งผลให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่ดีและปัญหาอื่น ๆ ในการอยู่ร่วมกันในระยะยาวจนยากที่จะแก้ไขได้นะครับ

บทความล่าสุด