คู่มือเลี้ยงหนูแฮมสเตอร์ ฉบับมือใหม่ | เริ่มต้นแบบไหนดี


คู่มือเลี้ยงหนูแฮมสเตอร์

ถ้าคุณอาศัยอยู่ในคอนโดฯ หรือบ้านที่มีพื้นที่จำกัด การมองหาสัตว์เลี้ยงที่มีขนาดเล็ก น่ารัก เลี้ยงง่าย อยู่ง่าย ไม่เป็นอันตราย และไม่ก่อความรำคาญ ก็จะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจมาก ซึ่งทุกอย่างที่ว่ามานี้ก็รวมอยู่ในน้องหนูแฮมสเตอร์ทั้งหมดเลยครับ

สำหรับมือใหม่ที่ยังไม่แน่ใจว่าจะเลี้ยงน้องแฮมฯ อย่างไรดี ก็ลองศึกษาได้จากบทความนี้ โดยจะแนะนำเกี่ยวกับวิธีการเลี้ยงน้องแฮมฯ แบบง่าย ๆ แต่ได้ทุกแง่มุม ซึ่งจะทำให้เขามีสุขภาพแข็งแรง และมีอารมณ์ที่สดใสด้วยครับ

ค่าตัวน้องแฮมสเตอร์อยู่ที่เท่าไร

น้องแฮมสเตอร์ส่วนใหญ่จะมีค่าตัวเบาหวิวเลยครับ ซึ่งราคาก็จะแตกต่างกันบ้างตามสายพันธุ์ ดังนี้

ไจแอนท์ (ซีเรียนแฮมสเตอร์)

Syrian Hamster คือน้องหนูตัวใหญ่ยักษ์ที่สุด มีทั้งขนสั้นและขนยาวสวยมาก และน้องก็ยังมีนิสัยเป็นมิตรมากด้วย  แต่ค่าตัวน้องนั้นแสนถูก คือเพียงแค่ 100-300 บาทเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีพันธุ์ไจแอนท์ยุโรปนำเข้า ราคาจึงค่อนข้างสูงหน่อย คืออยู่ที่ 1,500 บาท

แคมเบลล์

Campbell’s Dwarf Russian Hamster น้องเป็นแฮมสเตอร์แคระพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในบ้านเรา แต่ไม่ได้ใหญ่เท่าไจแอนท์นะครับ ส่วนนิสัยน้องก็จะชอบกัดแทะ และเป็นเด็กชอบเอาแต่ใจด้วย ซึ่งค่าตัวน้องอยู่ที่ 100-200 เท่านั้นครับ

วินเทอร์ไวท์

Dwarf Winter White Russian Hamster น้องสายพันธุ์แคระนี้มีขนาดเล็กรองลงจากแคมเบลล์ ดูแล้วจะคล้ายแคมเบลล์มาก ซึ่งน้องวินเทอร์นี้จะเด่นตรงที่เชื่องและเลี้ยงง่ายมาก ซึ่งบ้านเรานิยมกันมากที่สุด ส่วนสนนราคาของน้องก็เพียง 80-300 บาท

ไชนีส

Chinese Hamster คือน้องหนูที่ดูคล้ายหนูบ้าน ๆ มากที่สุด เพราะค่อนข้างผอม หน้าเรียวยาว และหางก็ยาวด้วย จึงไม่เป็นที่นิยมในบ้านเรา  ดังนั้นค่าตัวน้องจึงถูกมาก คือเพียงแค่ 80-100 บาท

โรโบรอฟกี้ 

Dwarf Roborovski Hamster น้องเป็นพันธุ์แคระที่มีขนาดเล็กจิ๋วที่สุดในบรรดาสายพันธุ์ที่กล่าวมา แต่กลับมีอายุยืนที่สุด แถมยังเข้าสังคมเก่ง ส่วนค่าตัวน้องก็เพียง 100-300 บาทเท่านั้น

จำเป็นต้องเลี้ยงน้องแฮมสเตอร์เป็นคู่ไหม

มีบางตำราอ้างว่าไม่ควรเลี้ยงน้องแฮมฯ รวมกัน ควรจับแยก เพราะน้องจะทะเลาะกัน เนื่องจากเป็นสัตว์หวงพื้นที่ จึงนิยมฉี่รดจองที่ไปเรื่อย ๆ แต่จากประสบการณ์ของผู้เลี้ยงส่วนใหญ่ ทำให้เราเห็นว่าน้องแฮมฯ สามารถเลี้ยงร่วมกันได้ ถ้าเป็นเพศเดียวกันก็จะเป็นเพื่อนกัน อาจมีทะเลาะกันบ้างก็เป็นเรื่องธรรมชาติ และแล้วแต่ลักษณนิสัยของน้องแต่ละตัวด้วย

ยิ่งถ้าเลี้ยงมาด้วยกันตั้งแต่เด็กก็มักจะไม่มีปัญหา แต่หากนำตัวใหม่เข้ามา แบบนี้ก็อาจจะเสี่ยงกับการต้อนรับน้องใหม่หน่อยนะครับ

ขณะที่ถ้าเลี้ยงตัวเมียกับตัวผู้ คุณก็ต้องมั่นใจว่าพร้อมจะรับเลี้ยงหลาน ที่จะออกมาเยอะมากจนเลี้ยงแทบไม่ไหว เพราะครอกหนึ่งโดยทั่วไปจะมีประมาณ 4-8 ตัว แต่ถ้าคุณโชคดีก็จะได้น้องหนูมากถึงครอกละ 14 ตัวเลยละครับ และถ้าคุณไม่อยากให้เป็นแบบนั้น ก็ควรเลือกเพศเดียวกันมาอยู่ด้วยกันครับ

แฮมสเตอร์มีอายุขัยกี่ปี?

แฮมสเตอร์โดยทั่วไปจะมีอายุขัยไม่นานนัก คือ 1-3 ปีเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่เมื่อแฮมสเตอร์เริ่มมีอายุก็จะสังเกตได้ว่าอ้วนขึ้น ขนที่เคยมีสีเข้มก็เริ่มหงอกแซมขึ้นมา และ อาจจะมีอาการกินน้อย เคลื่อนไหวน้อย หรือป่วยบ่อย

สิ่งพื้นฐานที่น้องแฮมฯ  ต้องการ

การเลี้ยงน้องแฮมฯ ขั้นพื้นฐาน จำเป็นที่คุณจะต้องเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ ดังนี้

อาหารโปรด

อาหารที่น้องแฮมสเตอร์ชอบมาก และดีต่อสุขภาพน้องมาก ๆ ก็คือ

-อาหารสำหรับหนูแฮมสเตอร์โดยเฉพาะ ซึ่งเขาจะคำนวณมาดีแล้วว่าได้สารอาหารครบถ้วนไม่แพ้อาหารสด

-แอปเปิล

-กล้วย

-แครอต

-แตงกวา

-กะหล่ำปลี

-คะน้า

-มันฝรั่งต้มสุก (ไม่ควรให้มันฝรั่งดิบ)

-ข้าวกล้องสุก

-เมล็ดฟักทอง

-เมล็ดทานตะวัน

-ไข่ต้มสุกบด

-ขนมปังโฮลวีต

-ไก่ต้มสุก

น้ำดื่มสะอาด

ความจริงแล้วคุณควรเปลี่ยนน้ำสะอาดให้น้องอย่างน้อยทุกวัน หรือเต็มที่ไม่เกิน 3 วัน ส่วนน้ำที่ให้น้องก็ควรเป็นน้ำกรองหรือน้ำต้มที่สะอาด ไม่ควรให้น้ำประปา นอกจากนี้การวางชามให้น้องก็ต้องใส่ใจด้วยนะครับ เพราะน้องมีขนาดตัวเล็กมาก หากตกลงไปในชามน้ำใบใหญ่ก็จะสำลักน้ำได้ ดังนั้นหาภาชนะใส่น้ำขนาดเล็กก็พอ เพราะน้องกินน้ำนิดเดียว และควรวางตรงมุม หรือในที่ที่น้องจะไม่เดินชนง่าย ๆ

ขนมขบเคี้ยว

ขนมสำหรับน้องแฮมสเตอร์ส่วนใหญ่ที่ขายตามท้องตลาด มักจะเป็นผลไม้อบแห้ง ขนมแป้งกรอบเคลือบน้ำตาล และประเภทถั่วหรือธัญพืชต่าง ๆ ซึ่งถ้าเป็นถั่วหรือธัญพืชที่ไม่มีการอบเกลือหรือปรุงรสก็พอให้ได้ แต่ผลไม้อบแห้งที่หวานจ๋อยเพราะเติมน้ำตาล จะทำให้น้องได้รับน้ำตาลมากเกินไป  และสำหรับขนมแป้งกรอบเคลือบน้ำตาล อันนี้แย่ที่สุดครับ นอกจากจะไม่มีประโยชน์แล้ว ก็ยังมีทั้งน้ำตาล แป้ง และไขมันที่สูงเกินด้วย

ของเล่นแก้เบื่อ

ของเล่นที่เหมาะสำหรับน้องแฮมสเตอร์ ซึ่งคุณสามารถหามาให้น้องเล่นได้ เช่น

-จักรวิ่งแบบใส  ทำให้คุณเห็นน้องได้อย่างชัดเจน

-ชิงช้าจิ๋ว

-สะพานจิ๋ว

-ไม้กระดกจิ๋ว

-บันไดจิ๋ว

-ลูกบอลที่ให้น้องเข้าไปวิ่ง

-ของเล่นที่ให้น้องได้ใช้มือทั้งสองหมุน 

บ้านแฮมสเตอร์

บ้านของแฮมสเตอร์สามารถจัดได้ตามความคิดสร้างสรรค์คุณ แต่สิ่งที่ควรคำนึงถึงก็คือ ส่วนพื้นที่โล่ง ที่ใช้วางน้ำและอาหาร หรือเดินเล่น และอีกส่วนหนึ่งคือพื้นที่ที่ค่อนข้างมีความเป็นส่วนตัว เพราะแฮมสเตอร์จะชอบแอบไปนอนตามมุม หรือที่ที่ช่วยบังสายตาได้

ให้อาหารกาย อย่าลืมให้อาหารใจ (h3)

อย่าลืมว่าน้องแฮมสเตอร์ถึงจะตัวเล็กแต่เขาก็มีหัวใจ ดังนั้นคุณจึงควรแสดงความรักกับเขา ด้วยการสัมผัสอย่างแผ่วเบา เล่นด้วยบ่อย ๆ และหมั่นพาเขาออกไปข้างนอกกับคุณเสมอ

ข้อควรระวังเมื่อคิดจะเลี้ยงแฮมสเตอร์

มีข้อควรระวังในการเลี้ยงน้องแฮมสเตอร์ ที่คุณควรรู้ เช่น

อาหารที่ไม่ควรให้น้องกิน 

ผักผลไม้ที่มีกลิ่นฉุนคือสิ่งที่คุณต้องระวัง เพราะพวกนี้มักจะมีสารประเภทกำมะถันสูง ซึ่งเป็นอันตรายต่อสัตว์ขนาดเล็ก ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยง ต้นหอม หัวหอมใหญ่ โหระพา กะเพรา กระถิน ทุเรียน ระกำ สละ ขนุน

นอกจากนี้อย่าให้น้องกินอาหารกระต่ายเด็ดขาด เพราะอาหารกระต่ายนิยมใส่สารกระตุ้นการเจริญเติบโต ซึ่งไม่เหมาะกับขนาดร่างกายของน้องแฮมฯ เลย

ค่อย ๆ เปลี่ยนอาหาร

น้องแฮมฯ มีความรู้สึกไวมากครับ เมื่อคุณต้องการจะเปลี่ยนอาหาร จึงควรเปลี่ยนแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยผสมอาหารเก่ากับอาหารใหม่ทีละน้อย ทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนสามารถเปลี่ยนเป็นอาหารใหม่ได้ทั้งหมด

ห้ามจับน้องลงน้ำ

น้องแฮมฯ ไม่ใช่น้องหมาครับ ดังนั้นห้ามจับน้องลงน้ำ หรือนำน้องไปอาบน้ำเด็ดขาด เพราะน้องจะช็อกได้ง่าย ๆ เนื่องจากอุณหภูมิน้ำมักจะเย็นกว่าอุณหภูมิห้อง หากน้องสกปรกจริง ๆ คุณควรหาทรายแมว หรือทรายแห้งที่สะอาดมาให้น้องคลุกหรือเกลือกตัวไปมา รับรองน้องจะเพลินเลยละครับ

อย่าผสมข้ามสายพันธุ์

เนื่องจากธรรมชาติของน้องแฮมฯ ที่มีอายุขัยสั้น จึงทำให้น้องผลิตลูกหลานเยอะมาก ซึ่งหากคุณต้องการจะอุ้มหลาน ก็ควรให้เขาผสมในสายพันธุ์เดียวกัน การผสมข้ามพันธุ์ในน้องแฮมฯ จะทำให้เกิดปัญหาตามมาได้ เช่น ขนาดเล็กกว่าปกติ ไม่ค่อยแข็งแรง หรือมีโรคทางพันธุกรรม

เมื่อต้องพาแฮมสเตอร์ ออกไปข้างนอกทำยังไงดี

การพาแฮมสเตอร์ออกไปนอกบ้านจะไม่ใช่เรื่องยุ่งยากเลย ถ้าคุณได้นำเทคนิคเหล่านี้ไปปรับใช้ เช่น

-เตรียมอาหาร และน้ำดื่มให้น้องด้วย    

-ให้น้องอยู่ในตะกร้าหรือภาชนะที่พอมีอากาศถ่ายเท และคุณอาจปูผ้านุ่ม ๆ ให้น้องด้วยเพื่อช่วยรองรับฉี่ และทำให้น้องอุ่น

-หากต้องขึ้นพาหนะต่าง ๆ คุณควรประคองภาชนะที่ใส่น้อง เพื่อป้องกันการกระทบกระเทือน และทำให้น้องรู้สึกวิงเวียน

-เมื่อมาจุดหมายแล้วให้คุณค่อย ๆ เปิดภาชนะนั้น อย่าเพิ่งรีบเปิดเพราะน้องอาจตกใจแล้ววิ่งสวนออกมา

เทคนิคเล่นกับแฮมสเตอร์ ยังไงไม่ให้ช้ำ

แฮมสเตอร์อาจช้ำมือได้หากคุณไม่ระวังขณะที่เล่นกับเขา ดังนั้นคุณจึงควรเล่นกับเขาโดย….

-รองผ้าปูบนตักแล้วนำน้องมาวางบนผ้า เพื่อให้ความร้อนที่ร่างกายคุณไม่ทำให้น้องร้อนจนเกินไป

-เมื่อจะจับน้อง คุณควรคิดเสมอว่าน้องบอบบางมาก ดังนั้นจับน้องอย่างทะนุถนอม หรือหากจะจุ๊บน้องก็ควรเม้มปากสักนิด เพื่อช่วยลดความรุนแรง

-จากที่เคยเล่นแบบถึงเนื้อถึงตัว ก็ลองใช้ของเล่นกับน้องดูสิครับ เพื่อลดการสัมผัสที่อาจแรงจนเกินไป

จริง ๆ แล้วการเลี้ยงน้องแฮมสเตอร์ไม่ยากเย็นเลยครับ เพราะน้องสามารถอยู่ได้เอง ไม่ได้ต้องการการประคบประหงมมากนัก แต่หากคุณอยากให้แฮมสเตอร์มีความสุข การใส่ใจดูแล ให้เวลาเขามาก ๆ หรือการพาเขาออกไปเที่ยวกับคุณด้วย ก็จะช่วยให้น้องแฮมฯ ไม่เพียงแต่แข็งแรงโตไว แต่ยังสดชื่นแจ่มใส และอยู่กับคุณไปนาน ๆ

บทความล่าสุด