วิธีฝึกสุนัขให้นิ่งทำยังไง? ฝึกสุนัขให้นิ่ง สงบและฟังคุณ


วิธีฝึกสุนัขให้นิ่งทำยังไง

การทำให้สุนัขหรือน้องหมาสงบและนิ่งเป็น อาจดูเป็นเรื่องยาก ซึ่งผมคิดว่าเจ้าของสุนัขส่วนใหญ่ก็มักจะเลี้ยงแบบตามใจ ไม่อยากขัดใจหรือออกคำสั่ง จนทำให้สุนัขมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม โดยเฉพาะเมื่อต้องพาสุนัขเข้าสังคม ถ้าสุนัขมีอาการหลุกหลิก ส่งเสียงดัง อยู่นิ่งไม่เป็นก็จะเกิดปัญหาตามมา แต่การฝึกสุนัขให้นิ่งเป็นเสียแต่เนิ่น ๆ ก็จะช่วยปรับพฤติกรรมของเขาแบบค่อยเป็นค่อยไป และสามารถเป็นสุนัขที่น่ารักและมีความสุขได้ครับ 

วิธีฝึกสุนัขให้นิ่งทำยังไง? ฝึกสุนัขให้นิ่ง สงบและฟังคุณ

พฤติกรรมที่แสดงว่าน้องหมาไม่ค่อยอยู่นิ่ง

น้องหมาที่ไม่ชอบอยู่นิ่งมักจะมีพฤติกรรมเหล่านี้ มาลองสำรวจกันดูนะครับว่าสุนัขของคุณเข้าข่ายสุนัขไฮเปอร์เกินเหตุหรือไม่

-สุนัขที่เอาแต่กระโดดโลดเต้น ชอบมาพันแข้งพันขา หรือวิ่งพล่านทั้งวัน

-น้องหมาที่ชอบเล่น ขุด กัด หรือหมกมุ่นอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเกินไป  

-สุนัขที่ชอบพังข้าวของ เรียกได้ว่าเป็นนักทำลายตัวยง

-สุนัขที่ชอบเห่าทุกสิ่ง เห่าพร่ำเพรื่อจนทำให้เดือดร้อนรำคาญ

-สุนัขที่อยู่ในสายจูงแต่ดูเหมือนเขาลากคุณให้วิ่งตามเขา

-น้องหมาที่มักตื่นตระหนกหรือกระสับกระส่ายได้ง่าย แม้ว่าจะอยู่ในบ้านที่ปลอดภัย

-เมื่อคุณสั่งหรือเรียกสุนัขจะไม่ค่อยเชื่อฟัง ดื้อดึง หรือยังคงเล่นไม่เลิก

ปัจจัยที่ทำให้น้องหมาไม่ชอบอยู่นิ่ง

น้องหมาที่มีพฤติกรรมไฮเปอร์ก็อาจมีสาเหตุทั้งจากนิสัยส่วนตัว และจากปัจจัยที่ยากจะควบคุมได้แต่หากคุณได้ศึกษาให้ดี บางทีคุณจะพบว่าเมื่อคุณเข้าใจเขาแล้ว ความรู้สึกรำคาญใจก็จะลดลงครับ เพราะนั่นอาจเป็นธรรมชาติของเขา  

วัยของสุนัข

                  หากน้องหมาของคุณยังอยู่ในวัยไม่ถึง 1 ขวบ การคาดหวังให้เขานิ่งย่อมเป็นไปได้ยาก เพราะช่วงวัยนี้สุนัขจะตื่นตัวและมีพลังล้นเหลือ จนทำให้เขาซุกซนและไม่สนใจฟังคำสั่ง แต่ถ้าสุนัขของคุณอายุมากแล้วแต่ก็ยังไม่ยอมนิ่งอยู่ดี คุณก็ควรรีบปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทำให้สุนัขรู้จักสงบเป็น

สายพันธุ์ของสุนัข

                  สายพันธุ์ของน้องหมาเป็นสิ่งสำคัญในการกำหนดพฤติกรรมหรือเอกลักษณ์บางอย่างตามสายพันธุ์ โดยเฉพาะความนิ่ง เช่น สุนัขพันธุ์เล็กอย่าง ชิวาวา บีเกิล แจ็กรัสเซลล์ ก็มักจะมีแนวโน้มชอบเล่น ชอบวิ่งชอบกระโจนมากกว่าสุนัขพันธุ์ทั่วไป

สุนัขเป็นโรคไฮเปอร์ (Dog Hyperactivity)

ถ้าน้องหมาของคุณได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะของโรคไฮเปอร์ (ไม่ใช่มาจากการคาดเดาหรือพยากรณ์ของคุณเองนะครับ) ทำให้สุนัขไม่อยู่นิ่งแทบจะตลอดเวลา การคาดหวังให้เขาเรียบร้อย อยู่นิ่งแบบสะกดจิต คงเกินความสามารถของทั้งคุณและเขา แต่การปรับพฤติกรรมจะทำให้เขาดีขึ้นได้ครับ

พฤติกรรมเจ้าของ

สิ่งสำคัญที่ทำให้สุนัขไม่อยู่นิ่งก็คือพฤติกรรมของเจ้าของ เพราะสุนัขจะทำสิ่งต่าง ๆ ตามพฤติกรรมการเลี้ยงดูหรือการฝึกฝน หากคุณมีอารมณ์ไม่มั่นคง ก็เป็นไปได้สูงว่าสุนัขของคุณก็จะรู้สึกกระวนกระวาย ตื่นตัวเกินไป และไม่สามารถอยู่นิ่งได้นาน ๆ 

นอกจากนี้การที่คุณมองว่าน้องหมาไม่รู้จักอยู่นิ่งเลย บางครั้งเขาก็อาจจะเป็นสุนัขที่ปกติดี มีซนบ้าง เล่นบ้างตามประสา แต่เพราะไลฟ์สไตล์ของคุณต่างหากที่สวนทางกับเขา เช่น คุณเป็นคนที่สโลว์ไลฟ์มาก ชอบนั่งอ่านหนังสือเงียบ ๆ ไม่คุยกับใคร แต่คุณกลับเลี้ยงแจ็กรัสเซลล์ที่มีพลังทำลายล้างสูง คุณก็จะมองว่าสุนัขของคุณไฮเปอร์เกินไป 

เทคนิคฝึกน้องหมาให้นิ่งเป็น  

การฝึกให้น้องหมาสนใจฟังคำสั่ง คือเทคนิคสำคัญที่ช่วยให้เขามีสมาธิ ลดความกังวล ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการสุนัขอยู่นิ่งไม่เป็นได้ และคุณสามารถฝึกเขาตามลำดับขั้นตอนนี้ได้เลย

เทคนิคเรียกให้สุนัขมาหา

1. เรียกชื่อน้องหมาของคุณตอนที่เขากำลังซนหรือหมกมุ่นกับบางสิ่ง ขณะที่คุณยืนอยู่กับที่ด้วยอารมณ์ที่สงบ อย่าให้เขาจับได้ว่าคุณกำลังเครียด

2. ใจเย็น ๆ รอให้เขามาหาคุณ ซึ่งคุณห้ามอารมณ์เสียหรือขยับตัวจะไปหาเขาเด็ดขาด เพราะเขาจะคิดว่าเขาชนะทันที

3. รอสักพักและเมื่อเขาเดินมาหาคุณ ให้คุณบอกให้เขานั่ง และรอจนกว่าเขาจะนั่งสงบ

4. เมื่อเขาสงบจริง ๆ ให้คุณกล่าวชมและลูบหัวเขาเพื่อแสดงว่าเขาทำสิ่งที่ถูกต้องแล้ว

5. หากมีขนมล่อหรือของโปรดก็ควรให้ตอนนี้เลยเพื่อให้เขารู้ว่าคุณชอบที่เขาทำแบบนี้

6. ทุกครั้งที่เขาเริ่มลนลานไม่อยู่นิ่งให้คุณทำตามขั้นตอนนี้บ่อย ๆ ไม่นานเขาจะเกิดการเรียนรู้ได้เอง และจะรีบมาหาทุกครั้งที่คุณเรียก 

เทคนิคให้สุนัขรอก่อนกินข้าว

1. ให้คุณถือจานข้าวแล้วยืนนิ่ง ๆ   

2. สั่งให้สุนัขนั่งลงเพียงครั้งเดียว อย่าตื๊อ อย่าง้อ และรอจนกว่าเขาจะนั่ง

4. เมื่อสุนัขนั่งลงดีแล้วจึงวางจานข้าวลง

5. รอสักครู่เพื่อให้เขาจดจ่อ จึงสั่งให้กินได้ แต่ถ้าเขาไม่ยอมนั่ง ให้คุณนำจานข้าวออกไปเลยครับ ยังไงสุนัขก็จะไม่ยอมอดตาย คุณจึงไม่ควรกังวลมากจนเกินไป 

เทคนิคพาน้องหมาไปทำกิจกรรมลดความตื่นตัว

ให้คุณหาเวลาอย่างน้อยวันละ 20-30 นาที สำหรับให้น้องหมาทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้เขาได้ปลดปล่อยพลังงานและความเครียด ซึ่งจะช่วยลดอาการไม่อยู่นิ่งของน้องหมาได้ดีมาก ส่วนกิจกรรมที่แนะนำ เช่น

1. เล่นโยนบอลแล้วให้เขาเก็บมาให้คุณ ซึ่งคุณจะต้องทำแบบช้า ๆ เมื่อเขาเก็บบอลมาให้ คุณต้องรอจังหวะสักพักจนเขาสงบแล้วจึงโยนบอลออกไปอีกครั้ง และระหว่างที่เขาไปเก็บ คุณไม่ควรส่งเสียงดัง หรือเร่งเขา เพราะจะเป็นการกระตุ้นให้น้องหมาตื่นตัวมากเกินไป

2. การพาเขาไปเดินละแวกบ้านโดยอยู่ในสายจูงจะช่วยให้เขารู้จังหวะของคุณ คุณจึงควรเดินบ้างหยุดบ้าง ชะลอ หรือเร่งความเร็ว แล้วสังเกตว่าเขาตามคุณหรือคุณที่ตามเขา ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดอาการอยู่ไม่นิ่งและเพิ่มสมาธิให้น้องหมาได้ แต่ถ้าเขาไม่เชื่อฟังก็ให้คุณสั่งหยุด จะเดินต่อได้เมื่อเขาสงบและพร้อมเท่านั้น

3. หากบ้านคุณมีลู่วิ่งลองจัดให้น้องหมาสักยก เมื่อเขาได้ใช้กำลังและปลดปล่อยพลังงานอย่างเต็มที่ ก็จะช่วยลดความเครียด และความเหนื่อยล้าก็จะทำให้เขานิ่งขึ้น

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเจ้าของลดความกังวลของสุนัข

พฤติกรรมปกติบางอย่างของคุณ ก็มีส่วนกระตุ้นให้น้องหมาเกิดอาการตื่นตัวมากเช่นกันครับ ดังนั้นหากคุณปรับเปลี่ยนได้ ก็จะช่วยให้สุนัขสัมผัสได้ถึงอารมณ์ที่มั่นคง และทำตัวนิ่งมากขึ้น ซึ่งพฤติกรรมที่คุณควรเลี่ยง เช่น

1. การที่คุณลุกพรวดเร็วเกินไป จะทำให้สุนัขรู้สึกว่ามีภัยมา เขาจึงลุกตามและเกิดความกระสับกระส่ายได้ง่าย    

2. การวิ่งไปวิ่งมาจะทำให้สุนัขเกิดความสับสนว่าคุณเป็นอะไร และเขาไม่รู้ว่าจะช่วยคุณได้อย่างไร

3. การลงโทษน้องหมาที่มากเกินไปโดยเฉพาะการตีแรง ๆ จะทำให้เขารู้สึกขยาดกลัว และเกิดอาการหลุกหลิกกระสับกระส่าย ซึ่งคุณอาจสังเกตได้จากการที่คุณเพียงแค่ขยับตัว เขาก็จะเบี่ยงตัวหลบหรือลุกหนีแบบอัตโนมัติ

4. การที่คุณไม่ให้ความสนใจ ไม่ค่อยใส่ใจดูแล จะทำให้สุนัขรู้สึกเหงา รู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง เขาจึงแสดงออกด้วยการเรียกร้องความสนใจ ทั้งการกระโจนเข้าใส่ พันแข้งพันขา จนคุณรู้สึกรำคาญใจ 

5. การตามใจน้องหมามากเกินไปก็เป็นสาเหตุที่ทำให้สุนัขไม่อยู่นิ่ง เพราะเขาเข้าใจว่าคุณรักเขามาก ยอมเขาได้ทุกอย่าง ไม่ว่าเขาจะทำตัวอย่างไรคุณก็ไม่ว่ากล่าว หรือแสดงออกว่าเป็นสิ่งที่คุณไม่พอใจ ดังนั้นเขาจึงทำทุกอย่างได้ตามใจชอบ ไม่ว่าจะนิ่งหรือจะซน 

วิธีบำบัดเพื่อให้สุนัขสงบผ่อนคลาย

1. อย่าปล่อยให้บ้านไร้เสียงใด ๆ คุณควรเปิดเพลงเบา ๆ โดยเฉพาะเพลงที่มีแต่ทำนอง เพื่อช่วยให้สุนัขที่ตื่นตัวมากเกินไปรู้สึกผ่อนคลาย และไม่เหงาใจ 

2. ผสมน้ำมันหอมระเหยแบบเจือจางไว้ในห้องที่น้องหมาอยู่ กลิ่นหอม ๆ จะช่วยให้เขาคลายความกังวลและลดความกระสับกระส่าย

3. วางแจกันดอกไม้จริงไว้ตามจุดต่าง ๆ ของบ้าน เมื่อน้องหมาได้กลิ่นเขาก็จะรู้สึกสงบ ไม่อึดอัด เหมือนอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ 

4. ให้น้องหมากินอาหารที่ช่วยบำรุงระบบประสาทและสมอง ลดความเครียด และบรรเทาอาหารตื่นตัว ซึ่งเป็นอาหารที่คุณหมอแนะนำให้สุนัขควรกิน เช่น กล้วยหอม ผักโขมต้มสุก ป๊อปคอร์นคั่วที่ไม่ปรุงรสเลย

บทความล่าสุด