วิธีดูแลสุนัขเป็นสัด ต้องทำอย่างไรบ้าง ?


สุนัขมีประจําเดือน

ปัญหาอย่างหนึ่งที่คนเลี้ยงสุนัขตัวเมียมักจะเป็นกังวลกันมากคือ ในช่วงสุนัขเป็นสัดติดฮีท หรือสุนัขที่มีอาการคล้าย ๆ กับการมีประจำเดือน โดยเฉพาะคนเลี้ยงสุนัขมือใหม่ มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับสุนัขเป็นสัดกันให้มากขึ้น พร้อมวิธีเตรียมความพร้อมและดูแลสุนัขเป็นสัดกันครับ 

สุนัขเริ่มเป็นสัดเมื่อไร 

สุนัขเป็นสัด เกิดจากอวัยวะเพศบวม และมีของเหลว เช่น เมือกใสหรือเลือดไหลออกมา คล้ายกับการเป็นประจำเดือนในคน กินเวลาประมาณ 7-14 วัน และเกิดขึ้นปีละ 2 ครั้ง สามารถดูแลความสะอาดได้โดยการสวมกางเกงนามัยหรือแพมเพิส พร้อมหมั่นดูแลที่พักอาศัยให้สะอาดอยู่เสมอ และหลีกเลี่ยงการทำให้สุนัขตกอยู่ในภาวะเครียดเท่านั้นเอง  

        โดยสุนัขจะเริ่มเป็นสัดครั้งแรกเมื่ออายุประมาณ 6 เดือน หรืออาจจะช้ากว่านี้ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ แต่ถ้าหากเป็นสัดเร็วกว่าปกติ ควรพาไปพบสัตวแพทย์ก่อน เพื่อตรวจดูอาการว่าเกิดความผิดปกติของร่างกายส่วนอื่น ๆ หรือไม่ 

การเป็นสัดจะเกิดขึ้นปีละ 2 ครั้ง หรือทุก ๆ 6-10 เดือน โดยประจำเดือนแต่ละรอบอยู่ที่ประมาณ 7-14 วัน ระหว่างวันเลือดจะมาไม่มาก แต่จะค่อย ๆ หยดทีละนิดตลอดทั้งวัน 

ระยะเวลาการเป็นสัดของสุนัข 

ระยะการเป็นสัด (Estrous cycle) ของสุนัขแบ่งออกเป็น 4 ระยะด้วยกัน ดังนี้  

ระยะก่อนเป็นสัด (Pro-estrus)

       ช่วงนี้จะกินเวลาประมาณ 7-14 วัน จะสังเกตเห็นได้ว่าอวัยวะเพศของสุนัขจะขยายใหญ่ขึ้นจากปกติ และมีเมือกใสหรือเลือดสีแดงสดไหลออกมา ในจุดนี้หลายคนอาจจะเข้าใจกันว่าสุนัขมีประจำเดือน

        ซึ่งจริงแล้ว ๆ จะเรียกเช่นนั้นก็ไม่ถูกต้องซะทีเดียว เพราะอย่างที่กล่าวไปว่าเลือดไหลออกจากอวัยวะเพศบวมแดง และเกิดขึ้นปีละ 2 ครั้ง แตกต่างจากประเดือนของคนที่เกิดขึ้นทุก ๆ เดือน 

        อาการที่เห็นได้ในระยะนี้ ได้แก่ การก้มเลียอวัยวะเพศ รวมทั้งดื่มน้ำและฉี่บ่อยขึ้น ซึ่งในฉี่ของสุนัขก็จะมีฟีโรโมนปะปนออกมาด้วย ทำให้มีสุนัขเพศผู้มาติดพัน ซึ่งสุนัขเพศเมียอาจจะมีการหยอกล้อ แต่ก็ยังไม่พร้อมผสมพันธุ์ 

ระยะเป็นสัด (Estrus)

การตกไข่จะเริ่ม 1-2 วัน เมื่อเข้าสู่ระยะเป็นสัด และจะกินเวลาประมาณ 7-14 วัน โดยไข่ที่ตกออกมาจะพร้อมพัฒนาในช่วง 2-3 วันแรก และจะสลายไปหากไม่มีการผสมกับสเปิร์มของสุนัขเพศผู้ 

วิธีสังเกตคือ ในช่วงนี้อวัยวะเพศของสุนัขจะบวมน้อยลง ส่วนของเหลวที่ไหลออกมาจะเปลี่ยนจากสีอแดงสด เป็นสีแดงจาง ๆ สีชมพู สีส้ม หรือเป็นเมือกใส และเกิดขึ้นน้อยกว่าในช่วงก่อนหน้า 

ในขณะเดียวกันสุนัขเพศเมียจะเริ่มเรียกร้องความสนใจจากสุนัขเพศผู้มากขึ้น เช่น หันก้นพร้อมยกหางขึ้น เมื่อมีการสัมผัสบริเวณหลัง เอว หรือด้านข้างของก้น 

ทั้งนี้ไม่ควรให้สุนัขผสมพันธุ์ครั้งแรกที่เป็นสัด เพราะโครงสร้างและอวัยวะบางอย่างยังเจริญเติบโตไม่สมบูรณ์ อาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาและเป็นอันตรายได้ ควรรอให้สุนัขเป็นสัดรอบที่ 2-3 จึงจะเริ่มผสมพันธุ์ได้ 

หลังเป็นสัด(Metestrus)

ระยะนี้จะกินเวลาประมาณ 2-3 เดือน เป็นช่วงที่ขนาดอวัยวะเพศจะกลับเป็นปกติ ไม่มีของเหลวไหลออกมา และสนใจสุนัขเพศตรงข้ามน้อยลง หากมีการผสมพันธุ์ในระยะก่อนหน้า สุนัขจะเริ่มตั้งท้องในช่วงนี้ 

        หากไม่แน่ใจว่าสุนัขตั้งท้อง ให้สังเกตจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น ขี้หงุดหงิด อารมณ์แปรปรวนง่าย ค่อนข้างเก็บตัวจากปกติ หรือเกิดพฤติกรรมตรงข้าม ได้แก่ อาการเบื่ออาหาร จากที่ชอบกิน หรือกินเยอะจนผิดปกติ

นอกจากนี้สุนัขอาจจะมีสรีระเปลี่ยนไป เช่น ท้องโต เต้านมและช่องคลอดขยายตัว รวมถึงมีน้ำหนักตัวมากขึ้น แม้จะกินน้อยลงหรือกินปกติ 

        ช่วง 3 สัปดาห์แรกของสุนัขตั้งท้อง อาจมีของเหลวสีชมพูไหลออกจากช่องคลอด และสามารถให้สัตวแพทย์ตรวจเช็กการตั้งท้องที่แน่นอนได้ เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 4 เป็นต้นไป ทั้งนี้เพื่อป้องกันการคาดการณ์ที่คลาดเคลื่อน เจ้าของควรบันทึกวันที่สุนัขมีการผสมพันธุ์ตั้งแต่วันแรกเอาไว้ด้วย 

        แต่อย่างไรก็ตามให้ระวังภาวะท้องเทียม สุนัขจะมีพฤติกรรมคล้ายการตั้งท้อง แต่ไม่ได้ท้อง เกิดจากความผิดปกติของระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนและฮอร์โมนโปรแลคติน สามารถหายเองได้ภายใน 2-4 สัปดาห์ หรือพาไปให้สัตวแพทย์ทำการเอ็กเรย์และอัลตร้าซาว เพื่อเช็กภาวะการตั้งท้องก็ได้ 

ระยะพัก (Anestrus)

       ช่วงสุดท้ายของการเป็นสัด ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ก่อนเข้าสู่ระยะแรกอีกครั้ง และเป็นช่วงที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ทั้งทางร่างกายและพฤติกรรม 

        แต่สำหรับสุนัขที่ตั้งท้อง จะเข้าสู่ระยะพักทันทีหลังคลอดลูก โดยจะใช้เวลาในระยะนี้ประมาณ 6 เดือน ก่อนเริ่มเป็นสัดอีกครั้ง

สุนัขเป็นสัดดูแลอย่างไร 

สวมกางเกงอนามัยหรือแพมเพิสให้สุนัข 

        จริง ๆ แล้วจะสวมหรือไม่สวมกางเกงอนามัยหรือแพมเพิสก็ได้ แต่หากกังวลเรื่องความสะอาดก็สามารถใส่ป้องกันคราบเลือดไว้ได้ ในปัจจุบันมีให้เลือกทั้งแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งหรือซักใช้ซ้ำก็ได้ 

เพื่อสุขอนามัยที่ดีควรเปลี่ยนกางเกงอนามัยให้สุนัข 1-2 ครั้งต่อวัน ไม่ควรใส่ข้ามคืนหรือใช้ซ้ำชิ้นเดียวติดต่อกันหลายวัน 

กักบริเวณสุนัขเป็นสัด

       หากเลี้ยงสุนัขหลายตัวรวมกันทั้งเพศผู้และเพศเมีย และยังไม่ต้องการให้สุนัขผสมพันธุ์ ควรแยกสุนัขเพศเมียออกมากักบริเวณเอาไว้ในช่วงเป็นสัด ประมาณ 7-14 วัน เพื่อป้องกันไม่ให้สุนัขเพศผู้ได้กลิ่นและเกิดอารมณ์ (ใครที่บ้านแคบ พื้นที่น้อยก็จะลำบากหน่อย)

        สุนัขบางตัวอาจจะมีอาการตื่นตระหนกมากขึ้น บางตัวก็อาจจะวิ่งออกจากบ้านได้ ในส่วนนี้ต้องระวังหน่อยนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสุนัขวัยรุ่น หรือพึ่งเป็นสัดครั้งแรกๆ

คอยเช็ดตัวให้สุนัข 

        ในช่วงที่สุนัขเป็นสัด อาจจะมีเลือดเปื้อนที่ขาหนีบ ระหว่างนี้ควรเช็ดบริเวณอวัยวะเพศ ขาหนีบ รวมไปถึงบริเวณใกล้เคียงให้สะอาดอยู่เสมอ ป้องกันการเกิดกลิ่นและไม่ให้มีสิ่งสกปรกหมักหมม

        ทั้งนี้สุนัขที่เป็นสัดสามารถอาบน้ำได้ตามปกติ แต่ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้สุนัขนั่งแช่ในอ่างอาบน้ำ เพราะอาจทำให้ติดเชื้อบริเวณช่องคลอดและลามไปยังมดลูกได้ 

ให้การดูแลเป็นพิเศษ 

        โดยเฉพาะสุนัขที่เป็นสัดครั้งแรก ควรจัดหาที่นอนที่สุนัขรู้สึกสบายตัว และอยู่ใกล้ กับเจ้าของ พร้อมทั้งหมั่นเช็กน้ำและอาหารให้พร้อม หากเกิดคราบเลือดไม่ควรดุด่าหรือใช้คำที่ทำให้สุนัขรู้สึกเครียด  

หมั่นทำความสะอาดบ้านและของใช้ 

        เพราะอาจมีเลือดจากอวัยวะเพศของสุนัขหยดตามพื้นบ้าน มีรอยติดตามของใช้หรือเฟอร์นิเจอร์ หากทิ้งไว้นานอาจกลายเป็นคราบฝังลึกกำจัดยาก และเกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์ ดังนั้นควรหมั่นดูและทำความสะอาดอยู่เสมอ 

ไม่อยากให้สุนัขเป็นสัดทำอย่างไร 

       ทั้งนี้สามารถป้องกันได้โดยการ ทำหมัน (Spaying) สัตวแพทย์จะผ่าตัดมดลูก ท่อน้ำไข่ รับไข่ ออกทั้งหมด และจะทำให้สุนัขไม่สามารถติดสัดและสืบพันธุ์ได้อีก โดยสามารถนำสุนัขไปทำหมันได้ตั้งแต่อายุ 3-6 เดือนแรก หรือช่วงก่อนเป็นสัด เพื่อป้องกันการตั้งท้องโดยไม่ได้ตั้งใจ 

        แต่เนื่องจากสุนัขแต่ละขนาดมีอัตราการเจริญเติบโตที่แตกต่างกัน ดังนั้นควรขอคำปรึกษาถึงความเหมาะสมและการเตรียมตัวก่อนการทำหมันสุนัขทุกครั้ง พร้อมทั้งลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคแทรกซ้อน 

บทความล่าสุด