สุนัขเดินกะเผลก แก้ยังไงดี (วิธีทำให้สุนัขกลับมาเดินได้ดี)


สุนัขเดินกะเผลก แก้ยังไงดี (วิธีทำให้สุนัขกลับมาเดินได้ดี)

บางครั้งคุณอาจพบว่าจู่ ๆ น้องหมาก็มีอาการเดินกะเผลกโดยไม่ทราบสาเหตุ และแม้จะไม่ได้ดูอันตราย แต่ก็ทำให้เจ้าของอย่างคุณรู้สึกไม่สบายใจ ซึ่งในเบื้องต้นหากน้องหมายังไม่มีอาการรุนแรง และยังใช้ชีวิตได้เกือบจนปกติ คุณก็สามารถดูแลเขาเองได้ และในไม่ช้าเขาก็จะกลับมาเดินได้ปกติครับ

ลักษณะอาการของน้องหมาขากะเผลก

คุณสามารถสังเกตอาการเหล่านี้ที่ฟ้องว่า น้องหมาอาจมีอาการผิดปกติที่ขา และทำให้เขาเดินกะเผลก เช่น

ยกขาข้างหนึ่งเป็นประจำ เดินแบบเขย่ง หรือไม่กล้าลงน้ำหนักที่เท้าข้างใดข้างหนึ่ง คุณจึงควรสังเกตขาข้างนั้นให้ดี เพราะข้างนั้นแหละครับที่น่าจะมีปัญหา

-เดินตัวเอียง หรือเดินได้ไม่สมดุล

-เดินเบี่ยง คือแทนที่จะเดินตรงไปข้างหน้าก็หันเฉียงแล้วค่อย ๆ เดิน

-อาจเห็นอาการบวมแดงที่ขาน้องหมาได้

-น้องหมามักจะร้องแบบทรมานเมื่อต้องเดิน

-น้องหมามักจะเลียขาข้างที่เจ็บ

-น้องหมาจะกินได้น้อยลง

-จากที่เขาเคยเป็นน้องหมานักวิ่ง น้องหมาจอมซน ก็จะกลายเป็นบังอรเอาแต่นอนเลยล่ะครับ

น้องหมาวัยไหนก็เดินกะเผลกได้ทั้งนั้น

 ไม่ว่าน้องหมาของคุณจะอยู่ในวัยใด ก็มีโอกาสเดินกะเผลกได้ทั้งนั้นครับ  

น้องหมาเด็กเดินกะเผลก

น้องหมาเด็กที่เกิดมาพร้อมเบ้าสะโพกที่สั้นหรือตื้นผิดปกติ ในตอนแรกเขาก็จะยังเดินได้ไม่มีปัญหา แต่หากวิ่งหรือเดินมาก ๆ ก็จะทำให้เบ้าสะโพกเคลื่อนออกจากตำแหน่งเดิม และทำให้เจ็บปวดได้

ซึ่งหากเป็นจากสาเหตุนี้การผ่าตัดก็ช่วยได้จริง แต่คุณหมอจะไม่แนะนำ เพราะถึงแม้จะผ่าตัดเพื่อดันเบ้าสะโพกให้กลับเข้าที่ได้ แต่ไม่นานเบ้านั้นก็จะหลุดออกได้อีก เนื่องจากเบ้าสะโพกเดิมตื้นตามธรรมชาติ

อย่างไรก็ตามหากเป็นน้องหมาเด็กการบำรุงด้วยอาหารดี ๆ ก็จะช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวเร็ว และสร้างเนื้อเยื่อเกี่ยวพันช่วงพยุงเบ้าสะโพก ทำให้สามารถกลับมาเดินได้ และใช้งานได้เกือบจะปกติ

น้องหมาที่โตแล้วเดินกะเผลก

น้องหมาวัยรุ่น หรือวัยโตแล้วมักจะเดินขากะเผลกเนื่องจากอุบัติเหตุ เพราะความช่างสำรวจและความซุกซน หรืออาจมาจากการใช้งานมากเกินไป ดังนั้นคุณจึงควรให้เขาทำกิจกรรมแต่พอดี และสร้างสิ่งแวดล้อมในบ้านให้ปลอดภัย เพื่อลดอุบัติเหตุโดยเฉพาะการลื่นล้ม

น้องหมาอายุเยอะเดินกะเผลก

น้องหมาสูงวัยมักจะมีปัญหาเรื่องข้อต่อเสื่อม กระดูกเสื่อม และน้ำหนักตัวที่มากขึ้น ดังนั้นจึงทำให้ขาที่ไม่ค่อยมีแรงแต่ต้องรับน้ำหนักเยอะ จึงกะเผลกได้ง่าย  

สาเหตุที่มักทำให้น้องหมาเดินกะเผลก

ก่อนที่คุณจะแก้ปัญหาสุนัขเดินกะเผลก คุณควรรู้ถึงสาเหตุที่ทำให้น้องหมาเดินกะเผลกหรือเดินได้ไม่ดี เช่น

-อาจมีเสี้ยนหรือหนามตำเท้าน้องหมา ซึ่งคุณสามารถใช้มือลูบตามฝ่าเท้าทั้งสี่ของน้องหมาเพื่อคลำดูว่าเจอเสี้ยนหรือไม่ และหากเจอแล้วก็ให้ใช้แหนบคีบออกมา

-มีแผลที่ขาหรือเท้าเนื่องจากโรคผิวหนังบางอย่าง

-ความเสื่อมของกระดูกและข้อต่อต่าง ๆ

-อาจเกิดอุบัติเหตุที่คุณไม่รู้ เช่น ตกจากที่สูง ขาพลิก เดินสะดุด  

-ทำกิจกรรมต่าง ๆ มากเกินไป โดยเฉพาะการกระโดด หรือเดินนาน ๆ    

-เป็นตะคริวโดยเฉพาะถ้านอนนาน ๆ เมื่อลุกขึ้นมาก็มักจะเดินเขย่งอยู่สักพัก แต่อาการนี้จะเป็นเพียงไม่นาน และไม่เป็นอันตรายครับ

-บางครั้งน้องหมาก็ทำการแสดงเพื่อเรียกร้องความสนใจเป็นพัก ๆ ซึ่งเจ้าของจำเป็นต้องสังเกตว่าน้องหมา “เป็นจริง” หรือแค่ “เล่นหนัง” ซึ่งคุณอาจพบว่าน้องหมาจะแสดงท่าเขย่งหรือเดินกะเผลกเฉพาะเมื่ออยู่ต่อหน้าคุณเท่านั้น และมักแสดงเพื่อแย่งซีนน้องหมาตัวอื่น

วิธีจัดการเบื้องต้น ลดปัญหาน้องหมาขากะเผลก

คุณสามารถแก้ปัญหาน้องหมาเดินกะเผลกได้ด้วยวิธีการเหล่านี้

ประคบลดบวม

หากคุณสังเกตเห็นอาการบวมแดง แสดงว่ามีอาการผิดปกติที่เห็นได้ชัด จึงควรใช้วิธีประคบช่วย แต่หากไม่มีรอยบวมใด ๆ คุณก็ยังสามารถประคบได้เพราะไม่เกิดอันตราย และยังช่วยให้กล้ามเนื้อของน้องหมาผ่อนคลาย และลดความเจ็บปวดได้ โดยให้คุณเน้นประคบขาข้างที่คาดว่าน่าจะมีอาการเจ็บ

วิธีประคบขาน้องหมาที่กะเผลกทำได้ง่าย ๆ คือ

-เริ่มจากการประคบเย็นด้วยการใช้ผ้าห่อน้ำแข็ง ประคบสัก 15 นาที  จะช่วยให้อาการบวมหยุด ไม่ขยายตัวไปมากกว่านี้ และยังทำให้อาการเจ็บลดลง

-วันรุ่งขึ้นให้คุณใช้การประคบร้อนโดยให้นำผ้ามาห่อข้าวสุกอุ่น ๆ หรือไข่ต้มอุ่น ๆ ก็ได้ จากนั้นนำมาประคบที่ขาน้องหมาสัก 10-15 นาที ก็จะช่วยให้บริเวณที่บวมยุบลง

เสริมด้วยกลูโคซามีน (Glucosamine)

กลูโคซามีนคืออาหารเสริมที่จำเป็นด่วน ๆ สำหรับน้องหมาอายุมากที่มวลกระดูกเริ่มลดลง  เหมาะสำหรับน้องหมาอายุน้อยเพื่อเสริมสร้างกระดูกให้เจริญเติบโต และยังดีต่อน้องหมาที่เจ็บขาเนื่องจากอุบัติเหตุด้วย

ซึ่งสารกลูโคซามีนจะช่วยต่อต้านการอักเสบ ลดอาการปวด บรรเทาอาการเมื่อยเนื้อตัว ฟื้นฟูข้อต่อและกระดูก ทำให้ข้อต่อยืดหยุ่นจึงสามารถเคลื่อนไหวได้ดี และช่วยให้เกิดการสร้างเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ดังนั้นคุณจึงควรให้เขาได้กินในช่วงที่เจ็บขาเป็นพิเศษ

สำหรับอาหารเสริมกลูโคซามีนนี้ คุณควรซื้อแบบที่ระบุว่าให้น้องหมากินโดยเฉพาะ ซึ่งจะมีขายตามร้านอาหารสัตว์ใหญ่ ๆ และในร้านเพ็ทช้อปออนไลน์ต่าง ๆ

ดูแลอาหารการกินเสียใหม่

คุณควรเปลี่ยนอาหารการกินให้น้องหมา โดยเน้นอาหารที่ช่วยบำรุงกระดูกและข้อต่อ โดยเฉพาะสารอาหารต่าง ๆ เช่น

  • แคลเซียม ซึ่งมักจะอยู่ในโยเกิร์ต เนื้อสัตว์ ผักใบเขียวเข้ม กระดูก (ควรบดหรือป่นละเอียด)
  • ฟอสฟอรัส พบในเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ ไข่แดง
  • วิตามินดี ในน้ำมันตับปลา ตับวัว กุ้ง ปลาต่าง ๆ    

นอกจากนี้การเริ่มต้นไดเอตหรือคุมน้ำหนักน้องหมา ก็จะเป็นการป้องกันที่ดีมากครับ เพราะถ้าน้อง

หมาต้องแบกน้ำหนักตัวมาก ก็จะยิ่งเกิดปัญหากับขาได้ง่าย การคุมน้ำหนักจึงเป็นการป้องกันในระยะยาว และยังทำให้น้องหมาไม่มีปัญหาเรื่องโรคต่าง ๆ ที่มาจากสาเหตุอ้วนด้วย

ป้องกันอุบัติเหตุให้น้องหมา

คุณควรป้องกันไม่ให้น้องหมาได้รับอุบัติเหตุจนทำให้ขากะเผลก ด้วยการดูแลเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้

-ในช่วงนี้ให้เขาลดการเดินหรือออกกำลังกายลง และพักให้มากขึ้น

-อย่าให้น้องหมากระโดด หรือตะกายเพราะจะยิ่งทำให้น้องหมาเจ็บขา

-บริเวณที่น้องหมาชอบกระโดดลงไปควรปิดตายหรือกั้นไม่ให้เขาลงได้อีก

-ดูแลบ้านให้ทางเดินโล่ง เพื่อให้เดินได้สะดวก จะได้ปลอดภัยทั้งคนและน้องหมา

ออกกำลังกายช่วงขาให้แข็งแรง

ในช่วงที่น้องหมายังเจ็บขาอยู่ อย่าเพิ่งให้น้องออกกำลังกายเป็นเวลา 48 ชั่วโมงหรือ 2 วัน แต่หากน้องหายดีแล้ว คุณก็ควรสร้างความแข็งแรงให้ขาของเขา ด้วยการกระตุ้นให้เขาได้ออกกำลังกายสร้างกล้ามเนื้อที่ขา เพื่อให้เขาไม่ล้มง่าย ทรงตัวได้ดี และออกกำลังกายได้นานขึ้น

เช่น การเดินเล่นที่สนามหญ้า เดินบนลู่วิ่ง เดินบนทราย ฝึกลุกนั่ง โดยให้คุณหลีกเลี่ยงการพาเขาไปเดินในที่ที่อาจมีเศษสิ่งมีคม ที่สามารถทำอันตรายฝ่าเท้าได้ รวมทั้งเลี่ยงพื้นที่ที่ทำให้เกิดแรงกระแทกสูงด้วย

หากรักษาเองไม่หาย อย่าปล่อยไว้ให้รีบไปพบคุณหมอ

 คุณสามารถแก้ปัญหาน้องหมาเจ็บขาในเบื้องต้นได้เอง แต่หากผ่านไประยะหนึ่งแล้วอาการของน้องหมากลับไม่ดีขึ้นเลย ก็อย่าพยายามฝืนเลยครับ ถึงเวลาแล้วที่คุณควรพาน้องหมาไปพบคุณหมอ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้อง

เนื่องจากอาการขาเจ็บหรือขากะเผลกอาจไม่ได้อยู่ที่ขาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่หมายถึงสัญญาณอันตรายที่มาจากโรคร้ายอื่น ๆ ที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต และการรับการรักษาแต่เนิ่น ๆ ก็จะช่วยให้น้องหมาปลอดภัยครับ   
 
 อาการเดินกะเผลกของน้องหมาอาจมาจากหลากหลายสาเหตุ ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดก็คือ เจ้าของจะต้องหัดสังเกตน้องหมาอยู่เสมอ เพื่อหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่กระตุ้นให้เกิดปัญหานี้ พร้อมทั้งเสริมปัจจัยที่ทำให้น้องหมามีสุขภาพแข็งแรง

โดยเฉพาะช่วงขา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับน้องหมามาก เพราะไม่เพียงแต่ใช้ในการเดินเหิน แต่น้องหมายังใช้ขาไม่ต่างจากมือ ดังนั้นเจ้าของจึงต้องใส่ใจมากเป็นพิเศษ และเมื่อน้องหมาเดินได้คล่องดีแล้ว เขาก็พร้อมจะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขอีกครั้ง

บทความล่าสุด