“การการุณยฆาตสุนัข” หรือบางคนเรียกว่า “เมตตาฆาตสุนัข” ก็คือการทำให้น้องหมาจากไปอย่างสงบ โดยเป็นขั้นตอนที่อยู่ในความดูแลของคุณหมอ และต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าของ
แต่เนื่องจากเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมากโดยเฉพาะในสังคมบ้านเรา การการุณยฆาตสุนัขจึงเป็นสิ่งที่เจ้าของน้องหมาทุกคน ควรจะต้องทำความเข้าใจและเรียนรู้เอาไว้ ไม่แน่ว่าเมื่อวันนั้นมาถึง คุณอาจจะต้องพิจารณาหลาย ๆ ทาง ซึ่งการการุณยฆาตอาจเป็นหนึ่งในทางเลือก ที่คุณจะต้องพิจารณาร่วมด้วย
การุณยฆาตสุนัข คืออะไร
ในทางการแพทย์ การการุณยฆาต (Euthanasia) ทั้งในคนและสุนัข จัดเป็นการทำให้จากไปอย่างมีมนุษยธรรม ไม่ผิดกฎหมาย และถือเป็นวิธีการที่ประเทศส่วนใหญ่ยอมรับ
ทำไมจึงต้องการุณยฆาต
แม้แต่สัตวแพทย์บางคนก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการการุณยฆาตสุนัขเลยครับ แต่บางกรณีก็จำเป็นต้องมอบทางเลือกให้เจ้าของ ซึ่งจุดประสงค์หลักของการการุณยฆาตก็คือ
- ในด้านร่างกายทำให้น้องหมาที่มีอาการบาดเจ็บหรือมีโรคร้ายต่าง ๆ ไม่เจ็บปวดหรือทรมานอีก
- ในด้านจิตใจทำให้น้องหมาไม่ต้องเครียด ไม่ต้องกลัว หรือตื่นตระหนกอีกต่อไป
- ทำให้น้องหมาจากไปด้วยวิธีที่ไม่เจ็บปวด
การการุณยฆาตสุนัขเหมาะกับน้องหมาแบบไหน
โดยทั่วไปจะมีสัญญาณหลายอย่าง ที่เจ้าของสุนัขอาจสังเกตได้ว่า น้องหมามีอาการหนักมาก ซึ่งจะต้องรีบพาไปพบคุณหมอโดยด่วน และเมื่อไปถึงแล้วก็เป็นไปได้ว่า คุณหมออาจให้คำแนะนำว่า การเลือกการการุณยฆาตอาจเป็นตัวเลือกที่ควรพิจารณา
อาการร้ายแรงที่แสดงว่าเป็นอันตรายต่อชีวิตสุนัข ซึ่งคุณอาจพบหลาย ๆ อาการร่วมกันได้ เช่น
- น้องหมาไม่กินไม่ดื่มอะไรเลย
- น้องหมาหายใจรวยรินมาก และชีพจรเต้นช้ามาก
- เหงือกที่เคยมีสีชมพูก็เปลี่ยนเป็นสีเทาซีด
- น้องหมาลุกขึ้นยืนไม่ได้ แม้เรี่ยวแรงจะยกหัวขึ้นก็ยังไม่ไหว
- น้องหมาไม่สามารถควบคุมปัสสาวะหรืออุจจาระได้
- หากอยู่ระหว่างขั้นตอนการรักษาโรค น้องหมาไม่ตอบสนองต่อยาหรือการรักษาเลย แบบนี้จะถือว่าอาการหนักมาก
- ถ้าน้องหมาของคุณได้รับการวินิจฉัยแล้วว่า อาการป่วยด้วยโรคต่าง ๆ นั้นอยู่ในระยะสุดท้าย และเขาร้องครางตลอดเวลา อาจเป็นสัญญาณว่าเวลาของเขาเหลือน้อยเต็มที
- เมื่อสัมผัสตัวน้องหมาแล้วรู้สึกได้ทันทีว่าตัวเย็นมาก ซึ่งแสดงว่าอวัยวะสำคัญอาจเริ่มหยุดทำงานแล้ว
- หากน้องหมาของคุณมีเนื้องอกหรือก้อนเนื้อใหญ่ผิดปกติ ซึ่งคุณหมอแนะนำว่าไม่ควรผ่าตัดออก แต่น้องหมากลับทุกข์ทรมานกับเจ้าก้อนเนื้อนี้อย่างมาก
คุณหมอบางคนที่เห็นด้วยกับการการุณยฆาตสุนัข เมื่อเห็นว่าน้องหมามีสุขภาพที่ย่ำแย่มาก ๆ ระบบต่าง ๆ ล้มเหลว จนสามารถเสียชีวิตได้ในเวลาไม่กี่วัน หรือกำลังทุกข์ทรมานจากโรคหรือภาวะที่เป็นอยู่อย่างสาหัส การแนะนำเจ้าของให้ทำการการุณยฆาต ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่จะช่วยให้น้องหมาจากไปอย่างสงบไม่ต้องทรมานอีก
นอกจากการการุณยฆาตจะเหมาะกับน้องหมาที่มีสังขารไม่ไหวแล้วจริง ๆ บางครั้งผู้เป็นเจ้าของที่ไม่อาจแบกรับภาระค่ารักษาต่อไปได้ ก็อาจจะปรึกษาคุณหมอเพื่อขอพิจารณาตัวเลือกนี้
คำถามที่คุณควรถามคุณหมอก่อนเลือกการการุณยฆาต
แม้ว่าคุณหมอจะแนะนำว่าการการุณยฆาตเป็นคำตอบที่เหมาะสม แต่คุณก็ควรสอบถามคุณหมอให้มั่นใจเสียก่อน และตอบตัวเองให้ได้ว่ามันถึงที่สุดแล้วจริง ๆ ใช่ไหม โดยการถามคำถามเหล่านี้กับคุณหมอ เช่น
- หากเลือกที่จะรักษาต่อ ขั้นตอนการรักษาจะเป็นอย่างไร มีค่าใช้จ่ายเท่าไร และรักษาแล้วจะได้ผลมากแค่ไหน
- หากน้องหมากำลังเป็นโรคร้ายแรงที่ติดต่อคนได้ โดยเฉพาะโรคพิษสุนัขบ้า ระหว่างนี้จะสามารถติดต่อคนได้ไหม เพราะสุดท้ายแล้วความปลอดภัยของครอบครัวของคุณ ก็ย่อมสำคัญไม่แพ้กันครับ ภาวะหรือโรคที่น้องหมาเป็นอยู่ ทำให้การใช้ชีวิตของน้องหมายากลำบาก ถึงขั้นทุกข์ทรมานมากหรือไม่เพียงใด
- ณ เวลานี้คุณหมอพอจะประเมินได้ไหมว่าน้องหมาจะอยู่ได้อีกนานเท่าไร
- หากสาเหตุที่ทำให้น้องหมาเจ็บปวดทรมาน มาจากอุบัติเหตุร้ายแรงกะทันหัน เช่นการถูกรถชน คุณหมอคิดว่าการการุณยฆาตจะดีต่อน้องหมามากน้อยเพียงใด
- กรณีที่น้องหมาเป็นโรคที่รักษาได้ยากมาก ไม่มีทางรักษาเลย หรืออยู่ในระยะสุดท้าย การรักษาต่อจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตน้องหมาอย่างไร
- น้องหมาบางตัวไม่ได้เป็นโรคภัย สุขภาพปกติดีทุกอย่าง แต่มีปัญหาเรื่องพฤติกรรมรุนแรง มักจะทำร้ายเจ้าของหรือคนในครอบครัว แม้จะได้เข้ารับการฝึกหรือบำบัดเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วก็ไม่ค่อยได้ผล จะมีทางใดอีกไหมที่จะช่วยปรับปรุงนิสัยน้องหมาได้ หรือควรให้น้องหมาไปอยู่กับผู้ดูแลคนอื่น จะได้ไม่ต้องเลือกการการุณยฆาต (เรื่องนี้บ้านเราไม่นิยมนำมาใช้เป็นเหตุผลเพื่อทำการการุณยฆาต แต่ในต่างประเทศก็พบเห็นได้ไม่น้อย)
ขั้นตอนการการุณยฆาตสุนัข
คุณหมอไม่ได้ห้ามเจ้าของเข้าไปขณะที่ทำการการุณยฆาตน้องหมา แต่เจ้าของส่วนใหญ่ไม่กล้าดูน้องหมาของตนตายไปต่อหน้าต่อตา ดังนั้นพวกเขาจึงเลือกที่จะอยู่ข้างนอก และให้คุณหมอเป็นผู้ลงมือ แต่ความจริงก็คือ ระหว่างนั้นน้องหมาจะมองหาเจ้าของด้วยความหวาดกลัว เพราะเขาไม่รู้ว่าคุณหมอจะทำอะไรเขา และทำไมเขาจะต้องมาอยู่ตรงนี้
ดังนั้นคุณหมอในต่างประเทศหลายคน จึงออกมาเรียกร้องให้เจ้าของอยู่เคียงข้างน้องหมาขณะที่ทำการการุณยฆาตด้วย เพราะอย่างน้อยก็จะทำให้ช่วงเวลาไม่กี่วินาทีก่อนที่เขาจะจากไป เขารู้สึกอบอุ่นใจ และได้มองหน้าเจ้านายเป็นครั้งสุดท้าย หรืออย่างน้อยเจ้าของก็ควรนำตุ๊กตาตัวโปรด หรือผ้าเน่าของเขามาวางไว้ใกล้ ๆ แต่ทั้งนี้ก็อยู่ที่การตัดสินใจของเจ้าของแต่ละคนว่าจะเลือกอย่างไรละครับ
ขั้นตอนการการุณยฆาต มีดังนี้
- เมื่อคุณตกลงว่าจะเลือกการการุณยฆาตโดยได้ปรึกษาคุณหมอเป็นอย่างดีแล้ว คุณหมอจะให้คุณกรอกและเซ็นเอกสารเกี่ยวกับการการุณยฆาต เพื่อเป็นการยืนยันว่าคุณได้รับรู้ และยินยอมให้เกิดขึ้น ตามเงื่อนไขที่ทางคุณหมอได้ระบุไว้
- คุณหมอจะเป็นผู้นัดวันทำการการุณยฆาต
- เมื่อถึงเวลานั้น คุณหมอจะพิจารณาว่าจำเป็นจะต้องให้ยาระงับประสาทน้องหมาก่อนหรือไม่ เพราะน้องหมาบางตัวก็กำลังทรมานกับภาวะหรือโรคที่เป็นอยู่ ซึ่งการฉีดยาระงับประสาทก่อน ก็จะช่วยให้เขาเจ็บปวดน้อยลงแม้เพียงชั่วครู่ก่อนจากไป
- หากเจ้าของเข้าไปด้วย คุณหมอจะแนะนำให้คุณลูบหัวลูบตัวเขา เพื่อให้น้องหมารู้สึกสบายใจขึ้น และการกอดแน่น ๆ ก็ถือเป็นการสั่งลาครั้งสุดท้ายด้วย
- คุณหมอจะฉีดยาสลบในปริมาณมาก เพื่อจบชีวิตน้องหมาอย่างนุ่มนวล
- หลังจากการฉีดยาแล้วเพียง 6-12 วินาที คุณจะเห็นว่าน้องหมาหายใจเฮือกใหญ่ และจะค่อย ๆ หลับลึก จากนั้นเขาจะยังหายใจต่ออีก 2-3 ครั้ง แล้วน้องหมาก็จะหยุดหายใจ และจากไปอย่างสงบ
หากเลือกหนทาง “การุณยฆาต” ให้เขา เราจะบาปไหม
หากมองเรื่อง “การการุณยฆาต”ในแง่มุมทางพุทธศาสนา ก็จะเกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันมาก เพราะแม้แต่การฆ่าตัวตาย ชาวพุทธส่วนใหญ่ก็เชื่อว่าเป็นบาปหนัก และการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตก็ผิดศีล 5 ในข้อที่ 1 หรือถ้าคุณนำเรื่องนี้ไปปรึกษาคนเฒ่าคนแก่ ก็อาจจะเกิดการถกเถียงไม่เข้าใจกันมากขึ้น
ยิ่งสังคมบ้านเราก็มักจะมองว่า การการุณยฆาตสัตว์เลี้ยง ก็คือการคร่าชีวิตสัตว์ เขายังไม่ถึงอายุขัยก็ไปพรากชีวิตเขา ทำไมจึงไม่ปล่อยให้เขาหมดลมหายใจไปเอง ทำแบบนี้อย่างไรก็ถือว่าบาป ความคิดนี้จะว่าถูกหรือผิดเสียทีเดียวก็ไม่ได้ครับ ขึ้นอยู่กับว่าคนคนนั้นมีมุมมองในแง่ใด และเขามีประสบการณ์มาอย่างไรต่างหาก
หากคุณลองคิดในแง่หลักทางพุทธศาสนาอีกแง่มุมหนึ่ง คือเมื่อไม่มีเจตนาหรือความตั้งใจย่อมไม่บาป แม้ว่าจะมีกรรมหรือผลแห่งการกระทำก็จริง แต่จิตใจผู้นั้นไม่บาป หากคิดเช่นนี้แล้ว คุณก็จะพบว่าความตั้งใจของคุณที่ไม่อยากให้น้องหมาอันเป็นที่รัก ต้องทุกข์ทรมานจากความเจ็บปวด หากจะเป็นบาป ก็อาจเรียกได้ว่า “บาปบริสุทธิ์” ที่เกิดจาก “เจตนาบริสุทธิ์” นั่นเองครับ
อย่างไรก็ตามถ้าเป็นไปได้ขอแนะนำว่า คุณผู้เป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยง ซึ่งต้องตัดสินใจครั้งใหญ่นี้ หากคุณเอาแต่ถามคนนั้นคนนี้ ว่าควรตัดสินใจอย่างไร เพราะต้องการหยั่งเสียงว่าควรเทไปทางใดดี บางทีการ “ถามคนอื่น” ยังไม่เท่ากับการ “ถามใจตนเอง” หรอกครับ เพราะคุณต่างหากที่เลี้ยงน้องหมามาทั้งชีวิต หากชีวิตเขาจำเป็นต้องอยู่ในมือใคร ถ้าเขาพูดได้ เขาคงอยากให้เจ้าของเป็นผู้ชี้ชะตาเขามากที่สุด
หากเลือกการการุณยฆาตไปแล้ว จะกำจัดความรู้สึกผิดได้อย่างไร
เมื่อคุณเดินทางมาถึงจุดที่ได้เลือกทางการุณยฆาตให้เขาแล้ว หลายคนมักรู้สึกผิด รู้สึกว่าตนทำพลาด คิดวกไปวนมาว่าไม่น่าจะทำแบบนั้นเลย น่าจะปล่อยให้เขาจากไปเองมากกว่า อย่างน้อยวันนี้ก็ยังพอได้เห็นเขาหายใจต่อ แต่ในโลกความจริง ทุกสิ่งมันผ่านไปแล้วครับ ไม่มีอะไรที่จะย้อนคืนมาได้ ณ ตอนนั้นคุณเองก็ได้ทำเต็มที่และดีที่สุดแล้ว จึงไม่มีอะไรที่ต้องรู้สึกผิดอีก
การบอกกับตัวเองว่า คุณต้องกลับมาเป็นปกติให้ได้ นอกจากจะทำให้คุณหลุดพ้นจากความรู้สึกผิดแล้ว ก็ยังช่วยให้แม้ในวันนี้ที่ไม่มีเขาอยู่กับคุณ คุณก็ยังดำเนินชีวิตต่อไปได้ แม้ “ความคิดถึง” ที่มีต่อเขาจะยังไม่จางหายไป แต่คุณก็จะไม่กลับไปร้องไห้ฟูมฟายอีกแล้ว
การตัดสินใจว่าจะ “ยื้อชีวิต” ให้น้องหมา หรือ “การุณยฆาต” ให้จากไป ไม่มีอะไรถูกหรือผิด 100 % หรอกครับ แต่ไม่ว่าคุณจะเลือกทางใด ก็ควรตัดสินใจด้วยเหตุผล หากยังพอมีเวลาก็ไม่ควรด่วนตัดสินใจ ควรรับฟังคำแนะนำจากคุณหมอให้มาก ๆ เชื่อว่าสิ่งที่คุณตัดสินใจลงไป ย่อมจะดีทั้งต่อตัวคุณผู้เป็นเจ้าของและน้องหมา ซึ่งผมหวังว่าไม่ว่าคุณจะเลือกทางใด ไม่ว่าใครจะเข้าใจคุณหรือไม่ การที่คุณ “รู้ตัวดี” ว่าตัวเองทำอะไรอยู่นั่นแหละครับที่สำคัญที่สุด